มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และ ส.อ.ท. จับมือชวนภาคอุตฯ “บริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่”


วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เป็นประธานเปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ “การบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่” บทเวทีเสวนา “Action Together for a Better Thailand : เทิด ด้วย ทำ ประเทศไทย ยั่งยืน” ภายในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมลงนาม

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ดร.สุเมธ กล่าวว่า สถานการณ์โลกเริ่มจาก Global Warning คือโลกเตือนเรามาก่อนแล้ว ต่อมาคือ Global Warming สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นตามฤดูกาล และปีนี้ทุกคนต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ของโลกที่เป็น Global Boiling ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้พระราชทานแนวทางไว้หมดแล้ว ตั้งแต่นภา ผ่านภูผา จนถึงมหานที มีตัวอย่างพื้นที่จริงให้เห็น ฉะนั้นทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ต้องร่วมมือกันดำเนินตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นต่อไป

“จากการน้อมนำแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติจนเห็นความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และทำให้เกิดพื้นที่ตัวอย่างเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริแล้ว 26 แห่ง นับเป็นความสำเร็จที่ชุมชนดำเนินงานจากล่างขึ้นบน แก้ปัญหาพื้นที่แบบพึ่งตนเอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ จากเขาหัวโล้นเป็นวนเกษตร และปัจจุบัน มีน้ำกิน น้ำใช้ตลอดปี มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ร่วมกับชุมชนกว่า 1,800 หมู่บ้าน บริหารจัดการน้ำ ความสำเร็จนี้ ได้เห็นพัฒนาการ ชุมชนเข้มแข็ง มีระบบคิด ระบบงาน ระบบจัดการ ผลที่เกิดขึ้นนี้สำคัญมากกว่าสร้างโครงสร้างต่างๆ เสร็จ วันนี้ ผมได้เห็นเครือข่ายความร่วมมือที่จะขยายผล ทำงานตามแนวพระราชดำริ ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสำคัญกว่าโครงสร้างที่ เรา จะร่วมกันสร้างต่อไป” ดร.สุเมธ กล่าว

สำหรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำของประเทศในปัจจุบัน ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ทั้ง 3 หน่วยงาน จึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เกิดเสถียรภาพและมีความมั่นคงต่อความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินงานให้เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน พัฒนา และประยุกต์ใช้คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้บุคลากร เครือข่ายสมาชิกภาคอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจ ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลด้านน้ำให้ครอบคลุมครบถ้วนทุกมิติ รวมไปถึงส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำของ สสน. รวมทั้งดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายสมาชิกภาคอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.

Mr. Marco Toscano-Rivalta
Mr. Marco Toscano-Rivalta
Ms. Caroline Turner

ภายในงานยังมีการนำเสนอการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ Global Boiling โดยผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “Global Boiling ! Changing Management & Resilience” โดย Mr. Marco Toscano-Rivalta, Chief of the Regional Office for Asia and the Pacific จาก United Nations Office for Disaster Risk Reduction (UNDRR) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการร่วมกันดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และ Ms. Caroline Turner, Water Scarcity Programme Manager จาก Food and Agriculture Organization (FAO) ซึ่งได้นำเสนอสถานการณ์ด้านน้ำของประเทศไทย และความสำคัญของการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการทำบัญชีน้ำและการจัดสรรน้ำในประเทศไทย

การเสวนาในหัวข้อ “Global Boiling! Working Together 2 Better ESG”
การเสวนาในหัวข้อ “Global Boiling! Working Together 2 Better ESG”

จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “Global Boiling! Working Together 2 Better ESG” โดยมีผู้บริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรม ร่วมเสวนา ได้แก่ นายวิชัย อัศรัสกร ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ได้กล่าวถึง ความสำเร็จของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รวมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ของ สสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ พร้อมที่จะสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ที่จะขยายผลความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหลังจากนี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. กับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. พัฒนาฐานข้อมูลสำหรับบริหารจัดการน้ำของภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งภาคอุตสาหกรรมและชุมชนรอบข้าง พร้อมทั้งได้ชักชวนภาคอุตสาหกรรมมาร่วมกันลงมือทำเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม และ ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้เชิญชวนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม มาร่วมกันดำเนินงานตามแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อส่งมอบโลกน่าอยู่และยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป ซึ่ง SCG เป็นตัวอย่างของภาคอุตสาหกรรมที่ได้ลงมือทำแล้ว และขอเชิญเพื่อนภาคอุตสาหกรรมมาร่วมลงมือทำไปด้วยกัน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save