เทศบาลนครเชียงใหม่ – AIS เดินหน้าสร้างการเติบโตร่วมกันของคน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ชูภารกิจคนไทยไร้ e-waste แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ เสริมทักษะพลเมืองดิจิทัล อย่างยั่งยืน
จากวิสัยทัศน์ของ เทศบาลนครเชียงใหม่ และ AIS ที่มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือของ AIS และเทศบาลนครเชียงใหม่ ในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายร่วมกัน ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในโครงการ “คนไทยไร้ e-waste” มุ่งสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี อันจะนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากลเพื่อยกระดับแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตชาวเชียงใหม่สู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล ผ่านหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ให้สามารถรับมือและใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า “เทศบาลนครเชียงใหม่ เรามีวิสัยทัศน์ คือนครแห่งความสุขภายใต้วิถีใหม่ ที่มุ่งสร้างความสมดุล ทั้งคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม ระบบบริการสาธารณะและสิ่งแวดล้อมที่ดี และพร้อมร่วมมือกับพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน วันนี้ เทศบาลนครเชียงใหม่จับมือกับ AIS เพื่อนำจุดแข็งจากทั้ง 2 องค์กร มาร่วมกันต่อยอดการเติบโตร่วมกันของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการ ‘คนไทยไร้ e-waste’ กับเอไอเอส ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่ให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี สอดรับกับพันธกิจหลักของเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการรักษาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยประชาชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สายชาร์จ หูฟัง และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก มาทิ้งได้ที่จุดรับขยะ ที่ทางเทศบาลฯ ได้จัดตู้รับทิ้งแยกไว้ ในประเภทขยะอันตราย จำนวนกว่า 100 แห่ง ครอบคลุมทุกชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้รับความสะดวก และง่ายต่อการทิ้งขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งขยะที่ผ่านการคัดแยกจะเข้าสู่กระบวนการ Recycle และ Upcycle เพื่อเติมเต็มอีโคซิสเต็มการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมไร้ขยะ E-Waste ได้เร็วยิ่งขึ้น และอีกหนึ่ง ในภารกิจของเทศบาลนครเชียงใหม่ คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตในเชิงรุก โดยลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ด้วยที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้ นับเป็นอีกมิติหนึ่งที่จะนำความรู้ด้านทักษะดิจิทัลผ่าน หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เข้าไปบูรณาการในสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ แก่เยาวชนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ กว่า 1,300 คน รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทุกระดับ และผู้สูงอายุ ผ่านเครือข่ายการทำงานของเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ สามารถปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเรามีความยินดีที่ได้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความร่วมมือด้านการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการให้ความรู้เสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์แก่เด็ก และเยาวชน ร่วมกับเอไอเอส”
โดยในมิติด้านด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการรณรงค์การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงการ “คนไทยไร้ e-waste” สร้างกระบวนการจัดเก็บเพื่อให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล ด้วยความร่วมมือกับเทศบาลนครเชียงใหม่ ขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนสามารถมาทิ้งได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเราเชื่อว่าพลังของทุกภาคส่วนจะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดความยั่งยืนได้ในที่สุด
และในมิติด้านสังคม ด้วยผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index พบว่า ภาพรวมของประชากรในพื้นที่ภาคเหนือ มีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับต้องพัฒนา จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้เราได้ทำงานร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อขยายผลส่งต่อ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ไปยังสถานศึกษา รวมถึงประชาชนในชุมชน และบุคลากรในสังกัดฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเดินหน้านำหลักสูตรการเรียนรู้ดังกล่าว ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ เทศบาลนครเชียงใหม่ในครั้งนี้ จะทำให้เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและคนไทยให้อยูในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป และการจับมือกันในครั้งนี้ จะทำให้ทั้ง 2 องค์กร สามารถร่วมกันพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ในฐานะ Good Corporate Citizen เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป”
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/storage/update/report/advanc-ebook-thailand-cyber-wellness-th.pdf หรือองค์กรใดสนใจนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index เพื่อใช้วัดผลและขับเคลื่อนองค์กร สามารถติดต่อมาได้ที่ aissustainability@ais.co.th