การมีประจำเดือน เป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องธรรมชาติในร่างกายของสตรีที่เข้าสู่วัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ ดังนั้นการขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนไม่มาตามกำหนด คงต้องศึกษาและเรียนรู้ถึงสาเหตุ ซึ่งมีตั้งแต่ปัญหาง่าย ๆ จนถึงปัญหายุ่งยากได้
สาเหตุที่ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด มีหลักใหญ่ ๆ อยู่ดังนี้
1.) การตั้งครรภ์ สตรีที่แต่งงานแล้วอยู่กับสามี เป็นเรื่องปกติที่มีการตั้งครรภ์ ช่วงตั้งครรภ์จะยาวนานประมาณ 9 เดือน เนื่องจากมีทารกเกิดขึ้นในโพรงมดลูกของฝ่ายภรรยา ทำให้ประจำเดือนไม่มาตามปกติ
2.) ความผิดปกติภายในร่างกายของสตรีที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ เช่น มีความผิดปกติของมดลูก รังไข่ ปีกมดลูก หรือท่อรังไข่ อาจมีภาวะอักเสบภายในหรือมีเนื้องอก ทั้งแบบธรรมดาหรือเป็นมะเร็ง มีผลให้ประจำเดือนไม่มาตามปกติ รวมถึงสตรีที่มีการรับประทานยาคุมกำเนิด ประจำเดือนอาจไม่มาหรือคลาดเคลื่อนได้
3.) ความผิดปกติของฮอร์โมนเพศ อาจจะเกิดจากความผิดปกติของร่างกายในการสร้างฮอร์โมนที่เป็นตัวควบคุมการตกไข่ คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้การตกไข่จากรังไข่มายังปีกมดลูกผิดปกติ เป็นเหตุให้ประจำเดือนไม่มา
4.) วัยหมดประจำเดือน สตรีที่อายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเพศเริ่มหมดไป จึงไม่มีตัวฮอร์โมนไปส่งเสริมการผลิตหรือตกไข่จากรังไข่ ทำให้ประจำเดือนไม่มา และเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ประจำเดือนก็จะไม่มาถาวร
5.) ภาวะเครียดทางจิตใจ อารมณ์ ความกังวลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกินไป ย่อมมีผลทำให้ฮอร์โมนเพศผันผวน การตกไข่ไม่เป็นไปตามปกติ มีผลทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือคลาดเคลื่อนได้
เวลาที่ประจำเดือนไม่มาตามปกติหรือมาบ้างไม่มาบ้าง ประจำเดือนที่มามากเกินไป ประจำเดือนที่มาน้อยเกินไป กระทั่งไม่มาเลย ย่อมเป็นความกังวลใจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพบแพทย์แผนกสูติ-นารีเวช เพื่อทำการตรวจร่างกายและวินิจฉัยถึงสาเหตุการที่ประจำเดือนไม่มาตามปกติเพื่อจะได้ให้การรักษาได้ถูกต้อง ในกรณีเกิดความผิดปกติจากโรคภัยไข้เจ็บจะได้รักษาแต่เนิ่น ๆ ปัญหาต่าง ๆ จะแก้ไขได้ง่ายกว่าทิ้งไว้ระยะเวลายาวนาน
การดูแลร่างกายให้แข็งแรงและปฏิบัติตัวอย่างมีระเบียบวินัย ย่อมจะลดปัญหาการขาดประจำเดือนลงได้
1.) รับอากาศบริสุทธิ์ หลีกเลี่ยงอากาศที่เป็นพิษ เช่น ฝุ่น ควัน เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันจากการเผาไหม้ต้นไม้ใบหญ้า ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันจากการสูบบุหรี่ เป็นต้น
2.) ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 6-8 แก้ว (1 – 2 ลิตร) ไม่อั้นปัสสาวะและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักและผลไม้เป็นหลัก
3.) ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ เสริมสร้างกายแข็งแรง และขับเหงื่อออกจากร่างกาย
4.) อารมณ์แจ่มใสและพักผ่อนให้เพียงพอ
5.) ระบบขับถ่ายปกติ ไม่ท้องผูก
ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ได้อย่างเคร่งครัด การขาดประจำเดือนและโรคภัยทางสูติ-นารีเวชจะลดน้อยลง ประจำเดือนมาตามปกติได้