ประธานภูมิภาคเอเชีย สมาคมผู้เลี้ยงผึ้งโลกนานาชาติ เร่งผลักดันมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อน เพิ่มรายได้ สร้างวิถีเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม


รศ.ดร.อรวรรณ  ดวงภักดี ประธานภูมิภาคเอเชีย (Regional President of Asia) คนล่าสุดของสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งนานาชาติ (International Federation of Beekeepers’ Association: Apimondia) ซึ่งเป็นสมาคมด้านผึ้งที่มีบทบาทสำคัญของโลก ประกอบด้วยตัวแทนจากสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งและผู้จำหน่ายน้ำผึ้งกว่า 120 สมาคม ทั่วโลก กล่าวว่า ประเทศไทยมีสภาพพื้นที่และอากาศเหมาะกับการทำเลี้ยงผึ้ง และผลิตน้ำผึ้งสูงเป็นลำดับ 36 ของโลก กลับมีรายได้จากการส่งออกน้ำผึ้งเพียงปีละประมาณ 600 ล้านบาท (ข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร, 2563) ขณะที่มูลค่าตลาดน้ำผึ้งโลก 5 หมื่นล้านบาทต่อปีนั้น มีข้อจำกัดของน้ำผึ้งไทย 2 เรื่องสำคัญคือ “มาตรฐานน้ำผึ้งสากล” และ “การสื่อสารเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ”

รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี
รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี ประธานภูมิภาคเอเชีย คนล่าสุดของสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งนานาชาติ

“เนื่องจากมาตรฐานน้ำผึ้งในระดับสากลที่ใช้กันในปัจจุบัน (Codex standard for honey) เกิดจากการผลักดันของกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งและผลิตน้ำผึ้งของประเทศผู้ผลิตและส่งออกในยุโรปและแอฟริกา ที่เป็นน้ำผึ้งจากการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ (ผึ้งฝรั่ง) ขณะที่การเลี้ยงผึ้งของคนเอเชียรวมถึงในบ้านเรา มีปัจจัยหลายอย่างต่างออกไป ที่นอกจากจะมีความหลากหลายของชนิดผึ้งแล้ว โดยประเทศไทยมีการเลี้ยงผึ้งในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อผลิตน้ำหวาน อย่างน้อย 6 สายพันธุ์ ยังมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศทั้งอุณหภูมิ หรือปริมาณแสง รวมถึงชนิดพันธุ์ของอาหารผึ้ง (ดอกไม้) ที่แตกต่างไป ทำให้น้ำผึ้งที่ได้ไม่ตรงตามมาตรฐานในหลายจุด เช่น สี ความเจือจาง ขณะเดียวกันในเชิงนโยบายประเทศไทยยังต้องสร้างกลไกความร่วมมือกันของกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างมาตรฐานน้ำผึ้งที่ใช้ได้กับทุกประเทศในแถบนี้” รศ.ดร.อรวรรณ  กล่าว

ด้าน “คุณค่าทางโภชนาการนั้น” รศ.ดร.อรวรรณ ในฐานะผู้บริหารของศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หน่วยงานที่มีการศึกษาวิจัยและถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการทั้งในและมีการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยด้านผึ้งในหลายประเทศมากว่า 15 ปี กล่าวว่า แม้จะมีงานวิชาการที่ยืนยันมีคุณสมบัติอันโดดเด่นของน้ำผึ้งเขตร้อน ในการเป็นอาหารทางเลือก (Functional Food) หรืออาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) แต่ก็ไม่มีพลังที่จะสื่อสารสิ่งนี้ไปสู่การรับรู้ในระดับสากล

น้ำผึ้ง

“หนึ่งในตัวอย่างของการวัดคุณภาพของน้ำผึ้ง คือ ค่า UMFHA (Unique Manuka Factor Honey Association) ในการออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียตามธรรมชาติที่ใช้กับน้ำผึ้งมานูก้า (Manuka Honey) ด้วยเลข 5-10-15 และ 20 โดยหากเป็นน้ำผึ้งมานูก้า UMFAH 20 จะมีราคาซื้อขายถึงกิโลกรัมละ 18,000 บาท ซึ่งจากวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำผึ้งทั้งจากฟาร์มเลี้ยงในไทยและประเทศเพื่อนบ้านพบว่า มีน้ำผึ้งเขตร้อนที่มีคุณสมบัติเทียบเท่า UMFHA 20 ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ และนอกจากคุณภาพนี้แล้ว ผลการศึกษาทั้งของศูนย์ Bee Park รวมถึงของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ยังระบุถึงการค้นพบสารสำคัญอื่นๆ ในน้ำผึ้งไทยที่มีศักยภาพอีกหลายชนิด เช่น สารต้านการอักเสบ สารที่มีคุณสมบัติยับยั้งพิษ ฯลฯ  แต่เสียงของประเทศไทยเพียงเสียงเดียว ไม่อาจเปลี่ยนทัศนคติที่มองว่าน้ำผึ้งเขตร้อนเป็นเพียงสารให้ความหวานไปสู่คุณค่าใหม่ๆ เหล่านี้ได้”  รศ.ดร.อรวรรณ กล่าว

Apimondia

ดังนั้น 6 ปีต่อจากนี้ ในฐานะหนึ่งในทีมบริหาร Apimondia  ซึ่งเป็นสมาคมด้านการเลี้ยงผึ้งและธุรกิจน้ำผึ้งอันดับหนึ่งของโลกที่มีอายุกว่า 125 ปี  ก่อตั้งปี ค.ศ.1895  สิ่งที่ รศ.ดร.อรวรรณ ตั้งใจไว้ก็คือ การผลักดันให้เกิด “การสร้างมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อน” และ “การสื่อสารคุณค่าของน้ำผึ้งเขตร้อน

บทบาทสำคัญของ Apimondia ในเวทีการค้าโลก คือการผลักดันทิศทางธุรกิจน้ำผึ้ง ทั้งนโยบาย การจัดการ รวมถึงกฎหมายและมาตรฐานต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ในฐานะประธานภูมิภาคเอเชีย จะทำให้สามารถหารือประเด็นเหล่านี้กับสมาชิกในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือกันให้เกิดมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อนให้ได้ รวมถึงการสนับสนุนผลักดันให้เครือข่ายเหล่านี้ผลักดันให้เกิดการนำมาตรฐานไปใช้ในประเทศของตนเอง ควบคู่ไปกับการช่วยกันสื่อสารข้อมูลจุดเด่นของน้ำผึ้งเขตร้อนในแง่ของการเป็นอาหารสุขภาพหรืออาหารทางเลือกไปสู่กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าทั้งในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้เกิดการยอมรับมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อนในระดับสากลได้ในที่สุด” รศ.ดร. อรวรรณ กล่าว

นอกจากมาตรฐานผึ้งเขตร้อนจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้เลี้ยงผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง ชันโรง หรือฟาร์มผึ้งพันธุ์ฝรั่งของประเทศไทยแล้ว การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรในพื้นที่โดยรอบให้เหมาะสม โดยเฉพาะการทำการเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ที่ลดการพาสารเคมีและยาฆ่าแมลง เพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากจะลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และตัวเกษตรกรแล้ว  ผึ้งยังสามารถช่วยเพิ่มการติดผลของพืชเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงผลผลิตที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save