เมื่อยานยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) กับความพร้อมของไทย ต้องไปด้วยกัน


ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ประกอบกับโลกกำลังเปลี่ยนผ่านพลังงานดั้งเดิมมาเป็นการใช้พลังงานทดแทนที่มีคาร์บอนต่ำ ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์นอกจากกำลังมุ่งไปสู่ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ที่จะมาแทนที่รถยนต์สันดาปแล้ว เป้าหมายของเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคตก็คือ การพัฒนา “ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” (Autonomous Vehicle) ที่ใช้เทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติและเชื่อมต่อ หรือ CAV (Connected and Autonomous Vehicle Technologies) คือ เทคโนโลยียานยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีคนควบคุม ที่เรียกกันว่า รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) หรือ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Self-Driving Car) การทำให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีความรู้ความเข้าใจในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที

งานเสวนา ความก้าวหน้ายานยนต์อัตโนมัติของประเทศไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ได้จัดเสวนาเรื่อง “ความก้าวหน้ายานยนต์อัตโนมัติของประเทศไทย” ในหัวข้อ“นโยบายและการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติของประเทศไทย” ขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค  โดยมีตัวแทนจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบ ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้ข้อมูลด้านการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติที่จะเป็นประโยชน์รวมถึงมุมมองที่น่าสนใจจากหลายภาคส่วน

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ในปัจจุบัน เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ตามแนวคิด CASE ซึ่งประกอบด้วย ยานยนต์ที่มีการเชื่อมโยงสื่อสารกัน (Connected Vehicle) ยานยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) ธุรกิจการใช้ยานยนต์ร่วมกัน (Shared Mobility) และยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงาน และลดการปล่อยมลพิษได้อีกด้วย และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าในอนาคตยานยนต์จะมีระบบขับขี่อัตโนมัติในระดับที่สูงขึ้น และอาจเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางไปอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติยังคงมีความท้าทายในหลายมิติ ทั้งในด้านของการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีการตอบสนองที่รวดเร็วและปลอดภัยต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพการจราจร ด้านความปลอดภัยของข้อมูล และด้านกฎระเบียบในการใช้งาน รวมไปถึงความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

“การเสวนาวันนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านยานยนต์อัตโนมัติทั้งจากภาคการศึกษาและภาครัฐที่มีบทบาทในการกำกับดูแลการใช้งานยานยนต์อัตโนมัติในประเทศไทย มาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อเตรียมการสำหรับรองรับการใช้งานยานยนต์อัตโนมัติที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในประเทศไทย”  รศ.ดร.ยศพงษ์

สำหรับความก้าวหน้าของยานยนต์อัตโนมัติ Autonomous Vehicle (AV) ของประเทศไทยด้านวิจัยและพัฒนา  (R&D)  รศ.ดร.เบญจมาศ พนมรัตนรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ในฐานะหัวหน้าห้องปฏิบัติการ COSIN และหัวหน้ากลุ่มวิจัย CAVs กล่าวว่า เมื่อครั้งเดินทางไปดูงานต่างประเทศทราบว่าการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไร้คนขับของสถาบันการศึกษาเกือบทุกแห่ง จะเป็นการจับมือกับภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐ โดยอุตสาหกรรมจะได้รับองค์ความรู้ ขณะที่สถาบันการศึกษาได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้โจทย์วิจัยมาจากความต้องการจริง และผลลัพธ์ที่ได้ก็จะถูกนำไปต่อยอด แต่รูปแบบนี้ยังมีค่อนข้างน้อยในประเทศไทย ดังนั้น ความร่วมมือจากทุกฝ่ายคือคำตอบที่จะทำให้เราสามารถก้าวทันเทคโนโลยีด้านนี้ได้

“ปัจจุบันประเทศไทยเองเริ่มให้ความสนใจด้านยานยนต์อัตโนมัติมากขึ้น เช่น โครงการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับอัตโนมัติ 5G ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กสทช. โครงการนี้เป็นงานวิจัยและพัฒนายานพาหนะที่สามารถวิ่งไปยังพิกัดที่กำหนดไว้ได้ด้วยตัวเอง และรถที่สามารถเคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ด้วยตัวเอง คาดว่า ภายในต้นปีหน้าจะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะทดลองวิ่งยานยนต์ไร้คนขับบนถนนจริงในพื้นที่ปิดภายใน มจธ.ก่อนนำไปทดลองวิ่งอีกครั้งที่จังหวัดอยุธยา เชื่อว่า หากโครงการสำเร็จจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับในประเทศมากยิ่งขึ้น”  รศ.ดร.เบญจมาศ กล่าว

ผศ.ดร.นักสิทธ์ นุ่มวงษ์ลขานุการศูนย์วิจัย Smart Mobility Research Center คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลายประเทศเริ่มใช้ยานยนต์อัตโนมัติระดับ 4 รถสามารถขับขี่ได้เอง และวิเคราะห์กับจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ แต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แผนที่ความละเอียดสูงรองรับการทำงาน ปัจจุบันมีการใช้งานแล้วในหลายแห่ง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน มี Robo Taxi เป็นบริการรถยนต์อัตโนมัติวิ่งได้จริงในถนนสาธารณะ แต่ยังเน้นที่การให้บริการ ไม่มีถึงขั้นจำหน่ายตัวรถ ขณะที่ประเทศไทย มีการพัฒนามาได้สักพักซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ในสถาบันการศึกษา ยังอยู่ในระดับ 3 (Partial Automation) รถสามารถขับขี่ได้ด้วยตนเองในสภาพแวดล้อมและสภาวะที่ออกแบบไว้ นอกเหนือจากนั้นยังต้องการมนุษย์มาช่วยควบคุม เพราะระบบสามารถทำงานได้ในบางสถานการณ์ เช่น กรณีรถมอเตอร์ไซค์ขับตัดหน้า ก็ต้องใช้คนขับช่วยควบคุมแทน คือ สามารถวิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนด หยุดตามจุดจอดได้ และเบรกเมื่อมีสิ่งกีดขวางได้ในพื้นที่ปิด แต่ยังไม่ครบทุกสถานการณ์

“ตอนนี้ เรามีการรวมตัวกันของกลุ่มคนด้านยานยนต์อัตโนมัติ ทั้งจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ รวมถึงจากภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม CAV Roundtable กว่า 200 คน สิ่งที่กำลังพยายามทำ คือ การกำหนด Guideline ของการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติให้เกิดขึ้น พร้อมไปกับการผลักดันให้เกิดคณะกรรมการที่จะรับผิดชอบในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ก็อาจจะเห็นรถอัตโนมัติที่ผลิตโดยโรงงานในประเทศไทยออกวิ่งในพื้นที่ปิด หรืออาจวิ่งบนถนนจริงในบางแห่งได้” ผศ.ดร.นักสิทธ์ กล่าว

ด้าน ดร.ปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ  กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับวิจัยและพัฒนาด้านยานยนต์อัตโนมัติ คือ การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของระบบและชิ้นส่วนต่างๆ พร้อมไปกับการกำหนดแนวทางและวิธีการทดสอบที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งนอกเหนือจากทดสอบชิ้นส่วนและระบบต่างๆ แล้ว การทดสอบระบบแบบองค์รวมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยจะต้องเริ่มจากการทดสอบ ณ​ “สนามทดสอบยานยนต์อัตโนมัติ” ไปจนถึงการทดสอบ ณ พื้นที่ Sandbox ขนาดใหญ่ เพื่อให้มั่นใจว่า ระบบรถอัตโนมัติมีสมรรถนะและความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน

“ขณะนี้ทางกระทรวง อว. และพันธมิตรได้ร่วมกันในการจัดสร้างสนามทดสอบยานยนต์อัตโนมัติ ที่ได้มาตรฐาน บนพื้นที่ 26 ไร่ ในโครงการระเบียงนวัตกรรมเศรษฐกิจภาคตะวันออก จ.ระยอง เพื่อให้เป็นที่ทดสอบชิ้นส่วนหรือระบบต่างๆ จากงานวิจัยและพัฒนาของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงให้บริการทดสอบผลการทำงานของระบบหรือชิ้นส่วนในรถยนต์อัตโนมัติ ว่ามีความน่าเชื่อถือหรืออยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด”  ดร.ปาษาณ กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save