บีไอจี ลงนามความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดการตรวจสอบและวิเคราะห์แนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้งานและการบำรุงรักษาพลังงาน รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้ Carbon Management Platform ที่พัฒนาโดยบีไอจี ยกระดับการบริหารจัดการพลังงานในสถาบันการศึกษา พร้อมร่วมกันศึกษาการนำ Climate Technology มาใช้ประโยชน์นอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรม
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี และศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ลงนาม โดยความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบีไอจี ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมจาก Climate Technology ในการตรวจสอบและช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคสถาบันการศึกษา
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณะบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาวิจัย รวมถึงนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจุฬาฯ ประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) รวมถึงคณะวิศวะฯ เป็นหนึ่งในสองคณะในจุฬาฯ ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร จึงได้ร่วมมือกับบีไอจีในการนำนวัตกรรมรวมถึง Platform ที่ช่วยในการวางแผนและติดตามเพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบ Carbon Management Platform ที่บีไอจีพัฒนาขึ้น มาใช้งานร่วมกับ Platform ที่ทางคณะฯ และสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) ได้พัฒนาขึ้น มาใช้งานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืนและช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากใช้พลังงานในอาคารต่างๆ ภายในคณะ”
ด้านปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวว่า บีไอจี ในฐานะผู้นำนวัตกรรมด้าน Climate Technology และเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเป็นบริษัทในเครือแอร์โปรดักส์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนระดับโลก บีไอจีจึงตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน จึงได้พัฒนา Carbon Management Platform เพื่อใช้จัดการ ตรวจสอบและวิเคราะห์การปล่อยคาร์บอนฯ พร้อมนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับภาคการศึกษาเป็นครั้งแรกในการตรวจสอบการใช้งานและการบำรุงรักษาพลังงาน รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้งาน Carbon Management Platform จากบีไอจีนั้น สามารถนำไปวางแผนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยความชำนาญของบีไอจีที่จะช่วยสนับสนุนให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน และตอกย้ำความมุ่งมั่นของบีไอจีที่จะสร้างอนาคตที่สะอาดตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ GENERATING A CLEANER FUTURE