BLC ผู้นำยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์สุขภาพ “ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” ในประเทศไทย เปิดตัว New Generics ใหม่ คัดสรรสมุนไพรไทยที่ปลูกโดยเกษตรกร สกัดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพในสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พร้อมเตรียมงบลงทุน 825 ล้านบาท จัดตั้งโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ เพิ่มกำลังการผลิตยาเม็ด 960 ล้านเม็ด/ปี สอดรับเป้าหมายรายได้ 2,000 ล้านบาท ในปี 2569
ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC กล่าวว่า ตลาดยาในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท แบ่งเป็นร้านขายยา 20% และโรงพยาบาล 80% ในส่วนของโรงพยาบาล แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 60% และโรงพยาบาลเอกชน 40% นับเป็นอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากการผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับโรค COVID-19 และการฟื้นตัวกลับมาของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้แนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นให้ผู้ป่วยกลับมาใช้บริการที่โรงพยาบาลและคลินิก ส่งผลให้ความต้องการยาและเวชภัณฑ์โดยรวมเพิ่มมากขึ้น
BLC ผู้นำด้านยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศไทยที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยให้เป็นสากลมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ก่อตั้งโดยเภสัชกร 3 คน ประกอบด้วย ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ภก.ศุภชัย สายบัว ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ และภก.สมชัย พิสพหุธาร ประธานเจ้าหน้าที่สายบริหารการเงิน เริ่มสร้างโรงงานในปี 2536 ปัจจุบันบริษัทฯ เดินทางมา 4 ทศวรรษ โดยยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคที่ 4 ที่บริษัทฯ เน้นการเติบโตธุรกิจแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน (Sustainable Growth) ภายใต้วิสัยทัศน์ บูรณาการภูมิปัญญาไทยสู่สากล พร้อมกันนี้ยังให้ความสำคัญกับการนำคุณค่าของสมุนไพรไทย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของบริษัทฯ อาทิ พริก ไพลและกระชายดำมาสู่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ โดย BLCได้พัฒนานวัตกรรมสมุนไพรทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน และมีการนำไปใช้ในโรงพยาบาลแล้ว ได้แก่ Capsika -25 gel แก้ปวดข้อเข่าเสื่อม สกัดจากพริก บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และPlaivana ครีมทาบรรเทาปวด เป็นต้น
BLC ได้จัดตั้งศูนย์วิจัย BLC ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงงาน เพื่อวิจัยและพัฒนายาแผนปัจจุบันและยาสามัญใหม่ โดยเฉพาะยาจากสมุนไพร ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมยาในประเทศและสนับสนุนการใช้สินค้า/ยาในประเทศ (MIT: MADE IN THAILAND) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อยกระดับการผลิตและบริการในอุตสาหกรรมยา และความยั่งยืนทางธุรกิจ (Sustainable) ภายใต้ค่านิยมหลักในการดำเนินธุรกิจขององค์กร คือ SMILE ได้แก่ Social Environmental Responsibility , Moral ,Innovation, Loyalty และ Excellence Performance
ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า BLC ตั้งเป้าหมายการเติบโตปีนี้ 200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเติบโตมากกว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมด้วยกลยุทธ์การเน้นผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ ประเภท ยา New Generics ตัวใหม่ๆ ที่สิทธิบัตรกำลังจะหมดอายุ ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพรเพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรเพื่อให้ประชาชนคนไทย สามารถเข้าถึงยาและการรักษาได้ง่ายและมากขึ้น ลดการพึ่งพาการซื้อยา หรือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมด้านสมุนไพรไทยเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติทั่วโลก โดยมีผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ ออกสู่ตลาดทุกๆ ไตรมาส
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้ทุ่มงบประมาณลงทุน 825 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างอาคารผลิตยาใหม่ ซึ่งแบ่งเป็นโกดังสำหรับเก็บวัตถุดิบจำนวน 5,590 ตารางเมตร และ โรงงานผลิต ขนาด 8,600 ตารางเมตร โดยจะเพิ่มกำลังผลิตยาเม็ดได้มากถึง 960 ล้านเม็ด/ปี ซึ่งจะขับเคลื่อนภาพรวมธุรกิจไปสู่เป้าหมายรายได้ 2,000 ล้านบาท ภายในปี 2569
สำหรับ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceuticals) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ จำหน่ายผ่านช่องทางผู้ประกอบการ (B2B) เช่น ร้านขายยา โรงพยาบาลรัฐและเอกชน บริษัทเอกชน ร้านค้าปลีก ในและต่างประเทศ รวมถึงจำหน่ายสินค้าให้แก่ ผู้บริโภคโดยตรง (B2C) ผ่านช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและช่องทางออนไลน์
ภก.สมชัย พิสพหุธาร ประธานเจ้าหน้าที่สายบริหารการเงิน บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC กล่าวว่า BLC ได้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 2566 จึงมีแผนดำเนินธุรกิจในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืน เช่น การบำบัดของเสียในโรงงานได้มาตรฐาน ISO 14001 มีการใช้บรรจุภัณฑฺ์รีไซเคิล และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยจัดตั้งโซล่าร์ฟาร์มขนาด 1.4 เมกกะวัตต์ ผลิตไฟใช้ในโรงงาน 30% ล่าสุดได้รับเลือกจากให้เข้าร่วมโครงการ ESG เนื่องจากตลท.มองว่าธุรกิจของ BLC เป็นธุรกิจ New Economy เพื่อบริษัทฯ จะพัฒนาไปสู่ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่ให้ความสำคัญในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
ด้านรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน และผู้จัดการทั่วไป – ฟิลิปปินส์, อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในฐานะผู้จัดงาน CPHI South East Asia 2024งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยา ครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า สถานการณ์ประชากรสูงอายุในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณการเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี โดยแยกเป็นรายปีจะพบว่า ปี 2567 สังคมไทยจะมีผู้สูงวัย 18.3% จากนั้นเพิ่มเป็น 19.7% ในปี 2568 และ 21.1% ปี 2569 จนไปถึงปี 2573 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) นั่นหมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมีเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อดูแลสุขภาพ และรักษาอาการผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งต้องการยาที่มีคุณภาพมาทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีความต้องการจากตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจากปัจจัยที่กล่าวมานี้ทำให้อุตสาหกรรมยาของไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยาของไทยมีศักยภาพสูงมาก ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา พร้อมการยอมรับในมาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการแต่ละรายต่างมีเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมยาไปสู่ New S-Curve เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Medical Hub) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะดึงเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต
สำหรับงาน CPHI South East Asia 2024 จะจัดแสดงงานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยา ครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ร่วมโชว์ศักยภาพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี และยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยให้ก้าวขึ้นเทียบเท่าระดับสากล และเพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาคุณภาพได้ง่ายขึ้น โดยจะจัดขึ้นวันที่ 10 – 12 กรกฎาคม 2567 ณ ฮอลล์ 1-3 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ภก.สุวิทย์ กล่าวถึงไฮไลท์ นวัตกรรมและสินค้าที่จะนำไปจัดแสดงในงาน CPHI South East Asia 2024 ว่า ประกอบด้วย สมุนไพรไทยคุณภาพสูง โดยพิถีพิถันคัดสรรสมุนไพรไทยที่ปลูกโดยเกษตรกรไทย นำมาสกัดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และได้ทำการจดอนุสิทธิบัตรเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้ได้สารสกัดที่มีคุณภาพ สามารถควบคุมปริมาณสารสำคัญให้คงที่ ปราศจากตัวทำละลายตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ภายในงานบริษัทฯ ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลายชนิด และยา New Generics ตัวใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยใน Aging population และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมทั้งนำเสนอบริการรับจ้างผลิตยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร (Contract Development and Manufacturing Organization: CDMO) รองรับความต้องการที่หลากหลายของเจ้าของธุรกิจในปัจจุบัน
“บริษัทฯ เล็งเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมยา ทั้งการเข้าสู่ตลาดทุนและมีการระดมทุน เพื่อพัฒนาให้มีความครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ด้านสุขภาพ (Wellness) บริการทางการแพทย์ (Medical Service) วิชาการ (Academic) และผลิตภัณฑ์ (Products) ด้วยการต่อยอดพื้นฐานจากทางด้านการผลิตยาสามัญ (Generics) สู่การพัฒนาสมุนไพรไทยที่พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมยาให้ทัดเทียมระดับสากล” ภก.สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย