แดน บิวต์เนอร์ หนึ่งในสมาชิกนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และนักเขียนผู้ค้นพบพื้นที่ 5 แห่งทั่วโลก เรียกว่า “บลูโซน” (Blue Zone) หรือ “โซนสีน้ำเงิน” ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอายุยืนยาวและมีสุขภาพแข็งแรงที่สุด ได้แก่ ซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี, อิคาเรีย ประเทศกรีซ, โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น, คาบสมุทรนิโคยา ประเทศคอสตาริกา และโลมา ลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีวัฒนธรรม และพฤติกรรมที่ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี และอายุยืนยาวที่คล้ายคลึงกัน เช่น การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการมีสัมพันธ์ที่ดีทางสังคม
คนไทยอายุสั้นกว่าบลูโซน 17 ปี
แดน บิวต์เนอร์ เปิดเผยว่า เมื่อ 25 ปีที่แล้วได้อ่านรายงานจากองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่ามีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรอายุยืนที่สุดในโลก โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งมีจำนวนผู้หญิงที่มีอายุถึง 100 ปีมากกว่าผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา ถึง 30 เท่า หมู่บ้านแห่งนั้นคือเมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น จากการวิจัยพบว่าชาวโอกินาวามียีนส์ในระดับปกติ และมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยสืบเชื้อสายมาจากหลากหลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีนและไทย
โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์ที่มียีนส์ปกติและดูแลสุขภาพดี จะมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 95 ปี โดยผู้หญิงอาจมีอายุยืนถึง 96 ปี ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 93 ปี อย่างไรก็ตาม สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่านั้น โดยผู้ชายมีอายุเฉลี่ยที่ 73.5 ปี และผู้หญิงที่ 80.5 ปี ความแตกต่างกว่า 17 ปีนี้เกิดจากคุณภาพชีวิตและสุขภาพ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ ไม่ใช่สูญเสียไปกับโรคภัยไข้เจ็บหรือต้องนอนติดเตียง
นอกจากโอกินาวาที่มีผู้หญิงอายุยืนที่สุดในโลกแล้ว ยังมีพื้นที่อื่นที่ประชากรมีอายุยืนและสุขภาพดีเช่นกัน เช่น ซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี ซึ่งมีผู้ชายอายุยืนมาก คาบสมุทรนิโคยา ประเทศคอสตาริกา อิคาเรีย ประเทศกรีซ และโลมา ลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น “บลูโซน” หรือพื้นที่ที่ประชากรมีอายุยืนและสุขภาพดีโดยปราศจากโรคร้าย
กินแบบไหน ใช้ชีวิตอย่างไรให้อายุยืน?
ปัจจัยที่ทำให้คนในBlue Zone อายุยืน คืออาหารที่พวกเขากินมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยแบบสำรวจด้านอาหารกว่า 155 ฉบับ ซึ่งได้จัดทำขึ้นตลอด 100 ปีที่ผ่านมา แบบสำรวจเหล่านี้ได้สอบถามเกี่ยวกับอาหารที่พวกเขากินในช่วงปี 1930, 1950 และ 1970 และพบว่าคนในบลูโซนมักกินอาหารจากธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ถั่ว ข้าว และขนมปังโฮลวีท ในเมืองโอกินาวา ผู้สูงอายุรับประทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง เช่น ซุปมิโซะ เต้าหู้ เต้าเจี้ยว และถั่วหมัก รวมถึงดื่มน้ำมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน
แม้ว่าคนในBlue Zone จะกินเนื้อสัตว์และน้ำตาล แต่พวกเขากินในปริมาณที่เหมาะสม ต่างจากชาวอเมริกันที่บริโภคเนื้อสัตว์มากถึง 100 กิโลแคลอรีต่อวัน ขณะที่คนในBlue Zone กินเพียง 10 กิโลแคลอรีต่อปี น้ำตาลก็เช่นกัน พวกเขาบริโภคเพียง 15% ของปริมาณที่คนอเมริกันกิน และส่วนใหญ่จะกินเฉพาะในโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิดหรืองานเฉลิมฉลอง อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือวัฒนธรรมการกินที่ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว ซึ่งช่วยสร้างความสุขและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
ด้านการออกกำลังกาย คนในBlue Zoneไม่ได้เข้ายิมหรือเล่นโยคะ แต่พวกเขาใช้ชีวิตอย่างธรรมชาติ เช่น ปลูกผัก ทำอาหาร และเดิน ซึ่งทำให้พวกเขามีสุขภาพดีโดยไม่ต้องรู้สึกว่ากำลังออกกำลังกาย นอกจากนี้ สถิติยังพบว่าอัตราการเกิดโรคเบาหวานในBlue Zoneมีเพียง 2% เมื่อเทียบกับ 42% ในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและใกล้ชิดธรรมชาติมีบทบาทสำคัญต่ออายุขัยและสุขภาพของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม แม้ความเศร้าและความเหงาจะมีผลกระทบต่ออายุขัยถึง 8 ปี ดังนั้นการอยู่ร่วมกันและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดภายในครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้สูงอายุ ในพื้นที่ Blue Zone ผู้สูงอายุไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะพวกเขายังมีบทบาทในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเลี้ยงหลานหรือทำกิจกรรมภายในบ้าน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น นอกจากนี้ การเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน เช่น งานสังสรรค์ ก็ช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุขและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นเดียวกัน
“สิ่งสำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและให้ผู้สูงอายุมีบทบาทที่คาดหวังจากสังคม ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเขาอยู่ตามลำพัง ใช้โซเชียลมีเดีย หรือดูทีวีเพียงอย่างเดียว ในโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น มีแนวคิดที่เรียกว่า “อิกิไก” (ikigai) ซึ่งหมายถึง “เหตุผลที่ทำให้ฉันตื่นขึ้นมาในตอนเช้า” คนในบลูโซนทุกแห่งมีแนวคิดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของชีวิต ซึ่งช่วยให้พวกเขาไม่ต้องเผชิญกับความเครียดทางอารมณ์หรือสงสัยในคุณค่าของตนเอง การศึกษาจาก National Institutes of Health ในสหรัฐฯ ยังพบว่า ผู้ที่สามารถอธิบายจุดมุ่งหมายของชีวิตตัวเองได้จะมีอายุยืนยาวกว่าคนที่ไม่มีเป้าหมายถึง 7 ปี” แดน บิวต์เนอร์ กล่าว
พลิกโฉมประเทศไทยสู่ ‘Blue Zone’
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสามารถกลายเป็นพื้นที่ Blue Zoneได้ แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จะเห็นว่าการคาดหวังให้คน 10 ล้านคนในกรุงเทพฯ เห็นพ้องต้องกันเรื่องอาหาร ทรัพยากร และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะอายุยืนไม่มีทางลัด ไม่มียา อาหารเสริม หรือโปรแกรมออกกำลังกายใดที่จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว หากไม่เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทุกวันเป็นเวลาหลายสิบปี ขั้นตอนแรกในการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นบลูโซน คือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ ให้เอื้อต่อการเลือกวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่การบังคับให้ทำ แต่เป็นการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีขึ้นได้เองอย่างเป็นธรรมชาติในระยะยาว ซึ่งแนวคิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง
สิงคโปร์ก้าวสู่ “New Blue Zone” แห่งที่ 6 ด้วยแนวคิดพลิกเมือง
แดน บิวต์เนอร์ กล่าวอีกว่า สิงคโปร์ถูกยกให้เป็น “New Blue Zone” หรือดินแดน Blue Zoneแห่งที่ 6 ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและนโยบายของภาครัฐ โดยชาวสิงคโปร์มีอายุยืนกว่าคนทั่วไปเกือบ 10 ปี และที่สำคัญกว่านั้น พวกเขามีช่วงชีวิตที่มีสุขภาพดีนานกว่าคนในกรุงเทพฯ ถึง 10 ปี หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้คือแนวคิดของ ลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจสร้างถนนเพื่อ “คน” ไม่ใช่เพื่อ “รถ” แม้ว่าสิงคโปร์จะมีสภาพอากาศร้อน แต่พวกเขาเลือกปลูกต้นไม้จำนวนมากเพื่อให้ร่มเงาแก่คนเดินเท้า และบางพื้นที่ยังติดตั้งระบบพ่นละอองน้ำเพื่อทำให้อากาศเย็นลง ทำให้การเดินในเมืองเป็นเรื่องสะดวกสบาย
นอกจากการส่งเสริมให้คนเดินเท้ามากขึ้นแล้ว สิงคโปร์ยังมีมาตรการที่ทำให้การใช้รถยนต์เป็นทางเลือกที่ไม่สะดวกนัก เช่น การเก็บภาษีรถยนต์สูงถึง 300% และภาษีน้ำมันที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงถึง 10 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลิตร ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม รายได้จากภาษีเหล่านี้ถูกนำไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สะอาด ปลอดภัย และครอบคลุมทั่วเมือง โดยไม่มีใครอยู่ห่างจากระบบขนส่งสาธารณะเกิน 300 เมตร การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สิงคโปร์ก้าวข้ามปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1970-1980 ซึ่งในเวลานั้น เมืองเต็มไปด้วยปัญหารถติด ควันพิษ และอุบัติเหตุบนท้องถนน ปัจจุบัน สิงคโปร์กลายเป็นเมืองที่อากาศสะอาด เดินได้อย่างปลอดภัย และน่าอยู่ ซึ่งช่วยเพิ่มอายุขัยของประชากรได้ถึง 3-4 ปี
“นโยบายเหล่านี้ทำให้ประชาชนเดินมากขึ้นโดยไม่ต้องคิดมาก โดยเฉลี่ยอาจเดินถึง 8,000 ก้าวต่อวันโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายแบบไม่รู้ตัว เพราะเมืองถูกออกแบบให้เดินได้ง่ายและปลอดภัย แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่จำเป็นมีเพียงการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย ที่จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเมืองให้ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าก่อน แล้วจึงคำนึงถึงรถยนต์เป็นลำดับรอง เพราะหากสร้างถนนเพื่อคน คนก็จะมา แต่หากสร้างถนนเพื่อรถยนต์ จำนวนรถก็จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีมาตรการด้านสุขภาพ เช่น การเก็บภาษีน้ำตาลสูง เพื่อลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศ โดยโรงงานผลิตเครื่องดื่ม เช่น โคคา-โคล่า ยังต้องกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่ขายในประเทศมีน้ำตาลไม่เกิน 20% ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวขึ้น” แดน บิวต์เนอร์ กล่าว
เปลี่ยนมุมมองผู้สูงอายุ จาก ‘ภาระ’ เป็น ‘พลัง’
แดน บิวต์เนอร์ กล่าวว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนมุมมองจากการกังวลว่าผู้สูงอายุจะเป็นภาระทางเศรษฐกิจ มาเป็นการมองว่าพวกเขาสามารถเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจได้อย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น ผู้สูงอายุยังเป็นคลังแห่งปัญญา เป็นแหล่งของความเข้มแข็ง และเป็น “กองทัพดูแลเด็ก” (Army of Child Care) ที่มีบทบาทสำคัญในครอบครัวและสังคม ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าเพียงแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจ
อีกประเด็นที่สำคัญคือ ความมั่งคั่งของประเทศไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสุขที่แท้จริงของประชาชน เมื่อถึงจุดหนึ่ง GDP จะไม่มีผลต่อระดับความสุขหรือสุขภาพของคนในสังคมอีกต่อไป ทุกพื้นที่ที่เป็น “Blue Zone” มักเป็นชุมชนที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานความยากจนของสหรัฐฯ แต่กลับมีอายุขัยที่ยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดี
“สิ่งสำคัญคือการเลิกยึดติดกับแนวคิดเรื่อง “เกษียณอายุ” แล้วหันมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีบทบาทในสังคมต่อไป ไม่ใช่แค่ในเชิงเศรษฐกิจ แต่รวมถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัวและชุมชน นี่คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคม ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่ถูกต้อง แทนที่จะเน้นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยหวังว่ามันจะเป็นคำตอบของทุกปัญหา ซึ่งในความเป็นจริง มันไม่เคยได้ผล หากมองในมุมของผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทย ควรให้ความสำคัญกับสองสิ่งเป็นหลัก นั่นคือ “ความสุขของประชาชน” และ “สุขภาพของประชาชน” ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ผู้สูงอายุก็จะต้องเป็นส่วนสำคัญของสมการนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แดน บิวต์เนอร์ กล่าว
คำตอบของอายุยืนที่ AI ก็เลียนแบบไม่ได้
แดน บิวต์เนอร์ กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในด้านพันธุศาสตร์ เช่น การพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ อย่างสเต็มเซลล์ โปรแกรมสุขภาพ หรือยาที่ช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ AI ไม่สามารถมอบให้ได้คือแนวคิดของการมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างเป็นธรรมชาติและกลมกลืนกับโลก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ Blue Zone
“พื้นที่ Blue Zone ไม่เพียงแต่มอบอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นถึง 10 ปี แต่ยังเป็น 10 ปีที่เต็มไปด้วยคุณภาพชีวิตและความสุข ความลับของอายุยืนใน Blue Zone ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีล้ำสมัยหรือการแทรกแซงทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากวิถีชีวิตประจำวันที่สมดุล ตั้งแต่การกินอาหารที่ดี เคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ ใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน และมีเป้าหมายในชีวิต ดังนั้น การเดินทางสู่ 10 ปีแห่งคุณภาพชีวิตใน Blue Zone ไม่ได้เริ่มต้นในอนาคต แต่เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นในวันนี้ ผ่านวิถีชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยความหมาย” แดน บิวต์เนอร์ กล่าวทิ้งท้าย