บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยผลดำเนินงานปี 2567 สามารถรักษาผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทุกแห่งได้อย่างมีเสถียรภาพ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อย CO2 โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าในจีน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากโรงไฟฟ้าได้ดีกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ ทำให้มีรายได้เพิ่มเติมจากการขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Emission Allowances: CEAs) เกือบ 90 ล้านบาท เดินหน้า เตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้า Temple I และ Temple II ในสหรัฐฯ รับแรงหนุนจากแนวโน้มราคาซื้อขายไฟล่วงหน้าในตลาดไฟฟ้าเสรี ERCOT สูงขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2568 และการคาดการณ์อัตราความต้องการใช้ไฟฟ้าในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 15-17% ภายในปี 25731 จากการลงทุน Data Center โดยรัฐเท็กซัสมีการเติบโตของ Data Center ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ2
อิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า BPP ขับเคลื่อนการเติบโตตามแนวทางการดำเนินธุรกิจ Beyond Quality Megawatts โดยมุ่งมั่นบริหารพอร์ตโฟลิโอให้มีความสมดุลและครอบคลุมมากไปกว่าการขยายกำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อมีความยืดหยุ่นในการหาโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต และสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ในปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ II ในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ สามารถเดินเครื่องเพื่อส่งมอบพลังงานได้ต่อเนื่อง แม้จะมีราคาซื้อขายไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงจากอุณหภูมิและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่เชื่อมั่นว่า ราคาซื้อขายไฟในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นสอดรับกับเทรนด์เทคโนโลยีพลังงานและดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ
อีกทั้ง BPP มีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา (Hedging Risk Management) ด้วยการใช้เครื่องมือทางการเงิน (Financial Derivative) สำหรับโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งนี้ โดยในปี 2568 จะมีกระแสเงินสดที่จะได้รับจากการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่ 40% นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติมของธุรกิจในจีนจากการขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน (CEAs) ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน
พร้อมกันนี้ยังเร่งขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (Renewables+) เดินหน้าสร้างห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานที่แข็งแกร่ง โดยเน้นการลงทุนในโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มขนาดใหญ่ (BESS) และการซื้อขายพลังงาน (Energy Trading) เพื่อสร้าง New S-curve ให้กับบริษัทฯ รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเสริมการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลการดำเนินธุรกิจในปี 2567 ประกอบด้วย 1.ธุรกิจพลังงานความร้อน (Thermal Energy) โรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในสปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย ยังคงเดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถรักษาค่าความพร้อมจ่ายไฟ (EAF) ในระดับสูงที่ร้อยละ 86 และร้อยละ 90 ตามลำดับ และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมจากจำนวนชั่วโมงการผลิตตามสัญญา รวมถึงการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHP) และโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในจีน จากการบริหารต้นทุนถ่านหินที่ดีขึ้นและมีรายได้อื่นที่เพิ่มขึ้นเกือบ 90 ล้านบาท จากการขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Allowance)ของโรงไฟฟ้า (CEAs) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าและไอน้ำที่เกิดจากการสะสมของ BPP ช่วงระยะเวลาหนึ่งจนถึงปี 2567 โดยมีปริมาณ 290,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด สะท้อนถึงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการและควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้
2.ธุรกิจ Renewables+ โดยลงทุนในโครงการ BESS เพิ่มเติมอีก 2 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ โครงการ Aizu (ไอสึ) และโครงการ Tsuno (ซึโนะ) กำลังการผลิตรวม 208 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2571 ขณะที่โครงการ Iwate Tono กำลังการผลิต 58 เมกะวัตต์-ชั่วโมง มีความคืบหน้า 99% เตรียมเปิด COD ในไตรมาส 2 ปีนี้ และเดินหน้าธุรกิจขายไฟฟ้า Energy Trading ในญี่ปุ่น ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยมีการซื้อขายทั้งหมด 2,816 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ล่าสุดในปี 2568 บ้านปู เน็กซ์ ซึ่ง BPP ถือหุ้นร้อยละ 50 ได้ร่วมกับโซลาร์บีเค บริษัทชั้นนำด้านพลังงานสะอาดในเวียดนาม จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อให้บริการโซลาร์รูฟท็อปสำหรับกลุ่มธุรกิจเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมในเวียดนาม ตั้งเป้าเฟสแรก 390 เมกะวัตต์
อิศรา กล่าวถึงผลการดำเนินงานปี 2567 ว่า BPP มีรายได้รวม 25,827 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,746 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานปกติ รวม 7,383 ล้านบาท พร้อมรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วน ผู้ถือหุ้น (D/E) อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.49 เท่า
นับตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2030 BPP มีแผนลงทุน 1,000-1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสัดส่วนของ Gasifier Power 60% และ ธุรกิจ Renewables+ ที่ 40%
“ด้วยพอร์ตธุรกิจที่มีความหลากหลายและกระจายตัวอย่างสมดุล มีความยืดหยุ่นในการลงทุนค่อนข้างสูที่ผ่านการดำเนินธุรกิจเชิงรุกใน 8 ประเทศยุทธศาสตร์ ทั่วโลก ครอบคลุมประเทศไทย ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ทำให้ BPP มีความสามารถปรับตัวรับมือกับภาวะวิกฤตต่างๆ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในแต่ละประเทศเพื่อส่งมอบคุณค่าและผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม พร้อมก้าวสู่เป้าหมายการเป็นผู้ผลิตพลังงานระดับโลก” อิศรา กล่าวสรุป
[1] อ้างอิงจาก ERCOT Platts M2MS Modeled Power Curves, 20 Dec. 2024
[2] อ้างอิงจาก JLL, ERCOT