โรคสมองฝ่อกำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากมายในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ โรคนี้มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หลัง 60 ปีจะพบมากขึ้น เกิดจากการที่เนื้อเยื่อสมองมีการเสื่อม ตัวอย่างความชราภาพหรืออายุที่มากขึ้นทำให้สารและฮอร์โมนบางอย่างในสมองเสื่อมสลายไป ก่อให้เกิดเซลล์สมองและเนื้อเยื่อสมองพลอยเสื่อมตัวไปด้วย เกิดภาวะการเหี่ยวตัวหรือหดตัวลงของเซลล์และเนื้อเยื่อของสมอง เป็นเหตุให้สมองเหี่ยวหรือสมองฝ่อ (CEREBRAL ATROPHY) ก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางสมองของผู้สูงอายุ ความคิด ความจำ การรับรู้เรื่องราวต่างๆ จะเชื่องช้า เกิดความจำเสื่อม การตอบสนองต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายเฉื่อยชาลง ขีดความสามารถของการช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันต่างๆ ช้าลงหรือทำไม่ได้อย่างปกติ เช่น การดูแลสุขอนามัยส่วนตัวทำได้ยากและลำบากขึ้นหรือทำได้ไม่สมบูรณ์ ต้องอาศัยคนใกล้ชิด ญาติ หรือผู้ดูแลคอยช่วยเหลือ การรับรู้หรือการตอบสนองในเรื่องต่างๆ กับบุคคลอื่นทำได้ยากขึ้น รับประทานอาหารได้น้อยลง นอนหลับยากขึ้น รวมถึงการแยกตัว เก็บตัวเงียบไม่ติดต่อสื่อสารหรือร่วมสังคมกับบุคคลอื่น บางรายการพูดคุยและสื่อสารกับผู้อื่นทำได้ยากขึ้นหรือทำไม่ได้ กำลังของกล้ามเนื้อแขน ขาอ่อนแรงลง การนั่ง ยืน เดิน ทำได้น้อยลงหรือไม่สามารถทำได้ ต้องอาศัยผู้อื่นคอยช่วยเหลือ การทรงตัวในการยืน เดินไม่มั่นคง โอกาสเกิดการหกล้มหรืออุบัติเหตุสูงขึ้น การกลืนอาหารทำได้ยากขึ้น อาจมีสำลักอาหารและน้ำดื่มได้ นอกจากนี้ในเรื่องของการขับถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะอาจขับถ่ายได้ยากขึ้นปัสสาวะไม่ออกหรือถ่ายอุจจาระไม่ออก ผู้สูงอายุบางรายอั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ เกิดการขับถ่ายโดยไม่รู้ตัวหรือบอกผู้อื่นไม่ทัน เป็นต้น
จากอาการผิดปกติหรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป สภาพของโรคนี้มักเป็นเรื้อรัง จึงต้องใช้เวลาในการดูแลรักษาต่อเนื่องยาวนาน และโอกาสหายเป็นปกติค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่มักจะรักษาแบบประคับประคอง ดูแลป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่ให้สภาพร่างกายทรุดมากไปกว่าเดิม ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยยาร่วมกับการดูแลทางด้านกายภาพบำบัดและด้านการพยาบาล ช่วยรักษา แก้ไขภาวะของสมองฝ่อ รวมถึงโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในกระแสเลือดสูง โรคหัวใจ โรคปอด โรคทางเดินอาหาร รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น โรคไทรอยด์ เป็นต้น ภาวะโลหิตจาง ฯลฯ
โรคสมองฝ่อนี้อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ลมชัก รวมถึงความผิดปกติของหลอดเลือดสมองตีบ ตัน แตก เกิดซีกหนึ่งของร่างกายอ่อนแรง แขน-ขากลายเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ ผู้ป่วยกลายเป็นผู้ที่ต้องนั่งรถเข็นหรือนอนติดเตียง หากรุนแรงมากขึ้นอาจเกิดภาวะไตวายหรือหัวใจวายติดเชื้อทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และโลหิตเป็นพิษ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้
ดังนั้นการป้องกันการเกิดโรคสมองฝ่อ และแก้ไขสภาพของโรค รวมถึงการฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ด้วยการดูแลสุขภาพพื้นฐาน “ 5 อ.”
อ. ที่ 1 อากาศ รับอากาศบริสุทธิ์บ่อยๆ
อ. ที่ 2 อาหารและน้ำดื่ม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้เพียงพอและดื่มน้ำที่สะอาดให้เพียงพอต่อร่างกาย
อ. ที่ 3 ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง หรือเล่นกีฬาที่เหมาะสมอย่างพอดี
อ. ที่ 4 อารมณ์ ควบคุมอารมณ์ให้แจ่มใส และพักผ่อนให้เพียงพอ
อ. ที่ 5 อุจจาระ ขับถ่ายให้ปกติ ไม่ปล่อยให้ท้องผูก
ขอให้ทุกท่านสุขภาพดีและห่างไกลจากโรคสมองฝ่อครับ
ที่มา: หมอโฆษิต