สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับโครงการด้านนโยบาย ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดการประชุมสัมมนา “COP26 Debrief : อนาคตโลก อนาคตไทย” เพื่อเผยแพร่และสรุปผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP 26) เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องบอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ ภายหลังจากประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปีพ.ศ. 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปีพ.ศ. 2608
การประชุมครั้งนี้เปิดเวทีให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนแนวคิด และทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย โดยในช่วงการเสวนาได้รับเกียรติจากผู้แทนหน่วยงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประกอบด้วยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรอิสระกว่า 300 คน
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีทั้งการดูแลภาคการปลดปล่อยและการดูดซับก๊าซเรือนกระจก นอกจาก ทส. จะเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญในการดูแลภาคดูดซับของก๊าซเรือนกระจก โดยเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวของประเทศให้ได้ร้อยละ 55 ตามที่กำหนดไว้ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการเพิ่มพื้นที่ดูดซับของก๊าซเรือนกระจก หรือ Carbon Sinks ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอีกหลายกระทรวงไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอีกหลายๆ หน่วยงานจะต้องมาช่วยกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการทำงานจากนี้ไป ทุกภาคส่วนจะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ความพยายามในการบูรณาการเรื่องความรู้ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนการศึกษา โดยจะต้องผลักดันให้บุคลากรทางการศึกษามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ถ่ายทอดไปยังนักเรียนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะประสานและดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ในทุกรูปแบบ เพื่อให้การดำเนินงานของประเทศไทยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้หลายหน่วยงาน ได้เริ่มขับเคลื่อนงานกันอย่างแข็งขันแล้ว เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น กระทรวงพลังงาน ได้ปรับเปลี่ยนโดยแผนพลังงานแห่งชาติ วางนโยบายใหม่ ด้วยสูตร 4D + 1E คือ Digitalization การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สนับสนุนการยกระดับโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็น Smart Grid สนับสนุนการพัฒนา Energy Storage สร้างเสถียรภาพให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ตลอดจนผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียน, Decarbonization การลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ชีวมวลและชีวภาพ, Decentralization การมอบอำนาจให้กับภาคส่วนต่างๆ ในท้องถิ่นให้บริหารจัดการพลังงานกันเองได้, De-Regulation การปลดล็อกกฎระเบียบเพื่อช่วยลดต้นทุนให้พลังงานที่ผลิตจากประชาชนสามารถเข้าสู่ Grid ได้ และ Electrification การผลักดันให้ทุกอย่างเป็นระบบไฟฟ้ามากขึ้น ส่งเสริมและขยายระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าและส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
ขณะที่ภาคการคมนาคมและการขนส่งได้แสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริหารจัดการการเดินทางสำหรับประชาชนและการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางและทางน้ำ ภาคการเงินและการส่งเสริมการลงทุนก็ได้มีความพยายามในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสีเขียว ทั้งจากการออกมาตรการงดเว้นภาษีสำหรับการลงทุนด้านพลังงานทางเลือก ด้านเทคโนโลยีเก็บกักก๊าซเรือนกระจกสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มาลงทุนช่วยเกษตรการรายย่อยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร เช่น การปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทั้งจักรยานไฟฟ้า ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และจัดทำแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) เพื่อเอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการลงทุนของภาคเอกชนไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้ง่ายขึ้น
ด้านเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวว่า การบริหารจัดการเศรษฐกิจกับการบริหารจัดการนิเวศวิทยา อาจฟังดูขัดแย้งกัน แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป และผสมผสานกันให้ลงตัว แม้รัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นไปอย่างเป็นธรรม แต่เราก็ต้องการความร่วมมือจากภาคประชาชน ทุกภาคส่วนต้องร่วมช่วยกันออกแบบว่านับจากนี้เราจะใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร เพื่อรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไม่ใช่ความท้าทายเฉพาะประเทศไทย หรือเยอรมนี แต่เป็นความท้าทายของทุกคนบนโลกใบนี้
นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยประสบความสำเร็จตามเป้าได้ คือ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ซึ่งเป็นกลไกการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกลไกการดำเนินการ ได้แก่ การเสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนประเทศเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ทั้งนี้ กว่าทศวรรษที่ผ่านมา เยอรมนีและไทยมีความร่วมมือในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเยอรมนีสนับสนุนและทำงานร่วมกันในหลายโครงการ และในปีหน้าก็ได้ให้ทุนสนับสนุนประเทศไทยสูงถึง 1,500 ล้านบาท
“ต้องขอบคุณรัฐบาลเยอรมนีที่ให้การสนับสนุนการทำงานกับไทยอย่างเป็นรูปธรรมมาโดยตลอดและเข้าใจคนไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีหน้า ไทย – เยอรมันจะฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 160 ปีกัน ก็คงจะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นระหว่างเราทั้งสองประเทศ” วราวุธ กล่าวทิ้งท้าย