กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรม DBD SMART Local BCG หน้าห้างสรรพสินค้า Central World ตั้งเป้าจบงานสร้างยอดขายและเจรจาการค้าไม่ต่ำกว่า 32 ล้านบาท
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดกิจกรรม DBD SMART Local BCG ณ ลาน Eden ห้างสรรพสินค้า Central World ซึ่งมีกำหนดจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 12-16 กรกฎาคม 2566 โดยพาผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนภายใต้การส่งเสริมของกรมในโครงการพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จำนวน 88 ราย จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมเจรจาธุรกิจ สร้างโอกาสทางการค้าอย่างต่อเนื่อง
กับกลุ่มคู่ค้าที่มีศักยภาพกว่า 20 บริษัท เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา และได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีศักยภาพการตลาดโดดเด่น และสะท้อนการดำเนินธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จำนวน 28 ราย มาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ณ Central World เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่รักชุมชน รักษ์โลก ได้มีโอกาสเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณค่า
ภายในงานยังมีการ Showcase ของ DBD SMART Local BCG ทั้ง 88 ราย ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กลุ่ม Bio Economy จำนวน 22 ราย เป็นการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่า นำนวัตกรรมมาช่วยในการผลิต การใช้ระบบ SMART Farming อาทิ สินค้าข้าวฮางกาบาพลัสที่ใช้นวัตกรรมการผลิตแช่ข้าวแบบน้ำหมุนช่วยเพิ่มสารกาบา มีกลิ่นหอม และเพิ่มสารอาหารให้ข้าวทุกเมล็ดมีมากขึ้น กลุ่ม Circular Economy จำนวน 32 ราย เป็นการออกแบบการผลิตตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ามากที่สุด (Zero Waste) ลดปริมาณการใช้วัตถุดิบ รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่
อาทิ สินค้ากระเป๋าหนังที่ ผลิตจากวัสดุใบไม้แก่ที่ร่วงหล่นมาผสมผสานกับยางพาราธรรมชาติ กลายเป็นแผ่นหนังลวดลายใบไม้ที่สวยงามทันสมัย และกลุ่ม Green Economy จำนวน 34 ราย ธุรกิจสีเขียวลดการใช้สารเคมี ลดการปล่อยมลพิษ สร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ สินค้าเสื้อมัดย้อมที่ใช้มูลวัวนมในฟาร์มโคนมท้องถิ่น พร้อมด้วยลวดลายสไตล์ธรรมชาติจากใบไม้รังสรรค์เป็นเสื้อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าน้ำมะเขือเทศสกัดแท้ 100% ปลูกแบบออร์แกนิค ในกระถาง กางมุ้ง ไร้สารเคมี ผ่านมาตรฐานสินค้าเกษตร Q และ GMP
DBD SMART Local BCG เป็นผู้ประกอบการชุมชนที่ผ่านการพัฒนาและคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากคณะกรรมการภาคเอกชนและกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตามเกณฑ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG และแนวคิดของโครงการ DBD SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น S-M-A-R-T คือ ต้องเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละพื้นที่ (Superlative), มีการผลิตสินค้าที่ทันสมัยรองรับตลาดยุคใหม่ (Modern), คงเสน่ห์เอกลักษณ์ไทย ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น (Attractive),
สินค้ามีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ สร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง (Remarkable) และต้องมั่นใจได้ในคุณภาพมาตรฐาน (Trust) ซึ่งกรมจะพัฒนาธุรกิจกลุ่มนี้ให้สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าชุมชน ผลิตได้บนมาตรฐานสากล และสร้างจุดขายให้แตกต่าง มากไปกว่านั้นยังตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางการตลาดและเจรจาซื้อขายสินค้าภายหลังจบกิจกรรมนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 32 ล้านบาท