โรคที่มากับหน้าหนาว


เมืองไทยเมื่อย่างเข้าสู่ปลายปีหลังออกพรรษาแล้ว ภูมิอากาศเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเย็น มีลมพัดแรง ส่วนใหญ่เริ่มที่ปลายเดือนตุลาคม ถึงปลายเดือนมกราคมของปีถัดไป เรื่องของสุขภาพที่มักเกี่ยวข้องกัน นั่นคือโรคภัยไข้เจ็บที่มักมากับฤดูหนาว ผู้ที่ดูแลสุขภาพอยู่เป็นประจำ คงจะทราบถึงวิธีการดูแลร่างกาย ส่วนผู้ที่ห่างเหินอาจจะจำไม่ได้ บทความนี้จะมาทบทวนเรื่องของสุขภาพในหน้าหนาวกัน

โรคที่มากับหน้าหนาวที่พบบ่อย :

1.) การแพ้อากาศ ด้วยอุณหภูมิที่ลดต่ำลงเฉลี่ยอยู่ที่ 22 ºC  ถึง 27 ºC ในเมือง และตามชนบทหรือป่าเขาเฉลี่ย 8 ºC ถึง 17 ºC ตามยอดเขาหรือบนดอยทางภาคเหนืออาจลดลงถึง -1 ºC ถึง 4 ºC มีเกล็ดน้ำค้างแข็งเกาะตามใบไม้ ด้วยอุณหภูมิที่ลดลงและความหนาวเย็นเข้าสู่ร่างกาย หากร่างกายไม่แข็งแรงพอหรือปรับตัวไม่ทัน เกิดการแพ้อากาศ อาการทั่วไปมักหนาวเย็นตามร่างกาย คัดจมูก หายใจอึดอัด ไม่คล่องและไม่โล่ง เสียงพูดเปลี่ยนไป ผิวหนังมีขนลุกบ่อย และหนาวสั่นตามตัว อาจมีน้ำมูกใสๆ หรือไม่มีน้ำมูกก็ได้ ร่างกายอ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอน ไม่สู้จะมีกำลังกายที่ดีพอ  ไม่สู้จะหิวน้ำและมีอาการเบื่ออาหาร อาจมีไอจามบ้าง แต่ไม่รุนแรง ไม่มีไข้ แก้ไขได้ด้วยการพักผ่อนให้มากขึ้น และสวมใส่เสื้อผ้าให้หนาและอบอุ่นร่างกายให้มาก ดื่มน้ำมากๆ หายาดมหรือยาดมสมุนไพรไทยดมให้จมูกโล่ง จะได้หายใจคล่องขึ้น พยายามรับประทานอาหารที่มีโปรตีนมากๆ และอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เพื่อเพิ่มพลังงาน และเสริมกำลังร่างกายให้ดีขึ้น เสริมภูมิต้านทานร่างกายให้แข็งแรง ช่วยให้อาการแพ้อากาศดีขึ้น อาจเน้นการออกกำลังกายร่วมด้วย

2.) ไข้หวัด มีการติดเชื้อไวรัสหวัด เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว มีไข้ต่ำๆ 37.5 ºC ถึง 38 ºC อาการไข้มักไม่ขึ้นสูง มีไอจาม และมีน้ำมูก คัดจมูก ส่วนใหญ่ยังไม่มีอาการเจ็บคอ ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรง ดื่มน้ำมากๆ  และพักผ่อนให้เพียงพอ อาการต่างๆ จะดีขึ้นได้ หากรุนแรงมากขึ้น มักมีเชื้อไวรัสหวัดและเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ทำให้มีไข้สูงขึ้นจาก 37.5 ºC ถึง 39 ºC  ไอรุนแรง มีเจ็บคอร่วมด้วย รอบๆ ในคอบวมแดง อาจมีทอนซิลโตด้วย ลักษณะนี้เป็น ไข้หวัดใหญ่ คงต้องปรึกษาแพทย์ตรวจร่างกาย จำเป็นต้องทานยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะร่วม ต้องให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขับน้ำมูกหรือเสมหะ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อลุกลามไปยังหลอดลม อาจก่อให้เกิดหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบได้

3.) แพ้อากาศตามผิวหนัง มีผื่นขึ้นและคันตามตัว เนื่องจากผิวหนังปรับตัวได้ไม่ลงตัว (ไม่สมดุล) มีการสร้างสารฮิสตามีนขึ้นใต้ผิวหนัง อาการคันและรุนแรง ผื่นขึ้นมาก เกามากๆ เกิดแผลอักเสบที่ผิวหนังได้ พยายามดื่มน้ำให้มาก และพักผ่อนให้เพียงพอ อาจต้องพบแพทย์ เพื่อให้ยาต้านการแพ้ของผิวหนัง อาจมีทั้งยารับประทานและยาทาแก้ผื่นคัน อาการจะดีขึ้นได้

4.) ตาแดง เกิดจากลมที่พัดแรง พาฝุ่นและเชื้อโรคเข้านัยน์ตา เกิดเยื่อตาอักเสบ มีตาแดง ขี้ตา คันนัยน์ตาน้ำตาไหลบ่อย หากรุนแรงมากต้องพบแพทย์หรือจักษุแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ป้องกันโดยใส่แว่นกันแดดเวลาออกนอกบ้านและล้างตาด้วยน้ำที่สะอาด

5.) ท้องเสีย อาหารบางอย่างเมื่อเข้าหน้าหนาวแล้ว จะเกิดเป็นพิษกับร่างกาย ทำให้อาเจียน ท้องเสีย มีท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย ควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

6.) ภาวะเครียดทางกายและใจ อากาศที่หนาวเย็นอาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า อาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวพยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เก็บตัวอยู่คนเดียว มีสังคมกับคนรอบข้างให้จิตใจร่าเริงและแจ่มใสการเล่นกีฬามีส่วนช่วยได้มาก

นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องพบแพทย์เป็นประจำ เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดัน ไต โรคทางเดินหายใจ ปอดที่ไม่แข็งแรง ฯลฯ ต้องใส่ใจติดตามการรักษากับแพทย์ที่ดูแลอยู่เป็นประจำรับประทานยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยให้โรคต่างๆ เหล่านี้สงบ อาการไม่กำเริบในช่วงอากาศหนาว

การป้องกัน วิธีที่ดีที่สุดต้องดูแลสุขภาพด้วย 5 อ.พื้นฐาน อากาศ อาหาร+น้ำดื่ม ออกกำลังกาย อารมณ์+พักผ่อนให้เพียงพอ อุจจาระ ไม่ปล่อยให้ท้องผูก ทำให้มีสุขภาพดี จะได้ห่างไกลจากโรคที่มากับหน้าหนาวได้


ที่มา: หมอโฆษิต


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save