นักวิจัยศูนย์แผ่นดินไหวแห่งชาติชี้ธรณีพิโรธเมียนมาสะเทือนถึงไทย ภาคเหนือจรดกทม. ต้องวางแผนรับมือระยะยาวหาแนวทางรับมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ได้มาตรฐานการออกแบบที่รองรับแผ่นดินไหว และเสริมกำลังอาคารเก่า พร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนเพิ่มเติมใน รพ.สังกัด กทม. เพื่อศึกษาผลกระทบ ประเมินสภาพความปลอดภัยของอาคาร และเป็นต้นแบบให้อาคารอื่น
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 ลึก 9 กม. ใกล้เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมา ห่างจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 100 กม. เมื่อเวลาประมาณ 8.37 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนบนภาคพื้นดินหลายตำแหน่งและในอาคารโรงพยาบาล 2 แห่งทางภาคเหนือ ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังคำนวณแรงและข้อมูลการสั่นสะเทือนของพื้นดินและอาคาร โดยทำงานใกล้ชิดกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดว่าผลการวัดการสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะแรงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มติดตั้งอุปกรณ์มาเมื่อตุลาคม 2565
ขณะที่ รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า บริเวณใกล้เชียงตุงเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง (มากกว่า 5.0) บ่อยครั้ง เช่น ขนาด 6.8 ในปี 2554 หรือแผ่นดินไหวเชียงตุงขนาด 5.9 เมื่อปี 2565 เนื่องจากมีรอยเลื่อนมีพลังเป็นจำนวนมากอยู่ในบริเวณดังกล่าว ส่วนงานวิจัยแผ่นดินในประเทศไทยนั้นได้ดำเนินการในเชิงพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยสามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พร้อมระบบส่งสัญญาณแจ้งเตือนกับบุคลากรประจำอาคาร เช่น วิศวกร เจ้าหน้าที่เทคนิค เพื่อประเมินสภาพความปลอดภัยของอาคารได้อย่างทันท่วงที และหวังว่าจะเป็นอาคารต้นแบบเพื่อให้อาคารอื่นนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถตรวจวัดการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์ล่าสุดตรวจวัดได้พร้อมกันทั้งสองโรงพยาบาล และมีความรุนแรงที่สุดที่เคยตรวจสอบมาแต่ยังมีค่าต่ำกว่าค่าในการออกแบบของอาคาร โดยระบบสามารถสื่อสารกับวิศวกรประจำอาคารและช่างเทคนิคได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความสับสนในการจัดการด้านการสื่อสารภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้
ด้าน ศ. ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้คนที่อยู่อาคารสูงในกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหว ซึ่งทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนของอาคารเนื่องจากแผ่นดินไหว โดยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาจนถึงสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน โดยในกรุงเทพฯ ได้ติดตั้งอุปกรณ์ไว้อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ซึ่งมีความสูง 37 ชั้น เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ทำให้การเก็บข้อมูลทราบถึงผลกระทบต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ เพราะการเกิดเหตุแต่ละครั้งจะเกิดการสั่นไหว สร้างความกังวลต่อความมั่นคงของอาคาร ประชาชนตื่นตระหนกวิ่งหนีและไม่กล้ากลับไปใช้อาคารเพราะไม่มั่นใจถึงความปลอดภัย
“แผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ หลายร้อยกม. แต่ก็สั่งผลให้เกิดการสั่นไหวในหลายอาคารสูง โดยพบว่าอาคารโยกด้วยความรุนแรงประมาณ 2.3 มิลลิ-จี (ค่าความเร่งโน้มถ่วงของโลก) ซึ่งปกติระดับที่คนรู้สึกจะอยู่ที่ 1.5 มิลลิ-จี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่คนในอาคารสูงจะรับทราบถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ และแม้แผ่นดินไหวจะเกิดในระยะไกลแต่ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าเป็นเพราะกรุงเทพฯ เป็นแอ่งดินตะกอนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพจะขยายความรุนแรงได้ 3 เท่าในระดับแผ่นดินไหวที่โครงสร้างอาคารสามารถต้านทานได้ หรือมากกว่า 5 เท่าในระดับต่ำก็จะขยายได้รุนแรงกว่า ดินอ่อนมีลักษณะเฉพาะในภาคกลางและลุ่มแม่น้ำ ทีมวิจัยจึงพัฒนาการออกแบบก่อสร้างให้ได้มาตรฐานการออกแบบที่รองรับแผ่นดินไหวได้ และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับอาคารสูงที่ก่อสร้างใหม่ ส่วนอาคารเก่ายังมีกำลังสำรองต้านทานแผ่นดินไหวระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาในระยะยาวที่นักวิจัยและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมและหาแนวทางเสริมกำลังหรือมาตรการอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครนำโดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กำลังวางแผนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดที่โรงพยาบาลในสังกัด เช่น โรงพยาบาลกลาง” ศ. ดร.นครกล่าว
เช่นเดียวกับ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ที่กล่าวถึงจุดเกิดแผ่นดินไหวว่ามีแนวรอยเลื่อนเชียงตุงพาดผ่าน จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลางในระดับตื้นจึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยตรง เนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดที่เกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารต้านแผ่นดินไหว ปี 2564 ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องออกแบบต้านแรงแผ่นดินไหวได้ โดยครอบคลุมจังหวัดในภาคเหนือและพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 43 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ควรเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับแผ่นดินไหวในอนาคตที่อาจจะมีขนาดใหญ่กว่านี้หรือเกิดขึ้นใกล้กว่านี้ มาตรการรับมือแผ่นดินไหวที่ดีที่สุด คือ การทำให้โครงสร้างอาคารแข็งแรง เพราะแผ่นดินไหวยังไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ โดยการออกแบบและก่อสร้างอาคารใหม่ให้ต้านแผ่นดินไหว และเสริมกำลังอาคารเก่าให้รองรับแผ่นดินไหวในอนาคตได้