อีสท์ วอเตอร์ วางท่อน้ำดิบเพิ่ม 2 โครงการรองรับการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาภัยแล้งพื้นที่ภาคตะวันออก


บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์เตรียมรับมือสถานการณ์แก้ไขปัญหาภัยแล้งภาคตะวันออกด้วยการวางท่อส่งน้ำดิบเพิ่มอีก 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง ในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ความยาวกว่า 60 กิโลเมตร และ โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบคลองหลวง จังหวัดชลบุรี ความยาวกว่า 45 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายท่อส่งน้ำ รองรับการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก

เชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า อีส วอเตอร์ ดำเนินธุรกิจในการการพัฒนาและบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกมากว่า 30 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2535 เพื่อบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออกจากท่อเดิมที่มีความยาวท่อเพียง 135 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพท่อส่งน้ำสายหลัก จนเป็นท่อส่งน้ำสายหลักที่มีความยาวที่สุดในภาคตะวันออก และจะดำเนินการให้กลับมาเป็น Water Grid ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยอีกครั้งในปลายปี พ.ศ.2566 โดยมีความยาวท่อส่งน้ำสายหลักรวม 526 กิโลเมตร สามารถสูบส่งน้ำมากกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้งได้รับการจัดสรรน้ำจากกรมชลประทานปริมาณ 410 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้น้ำในปัจจุบันประมาณ 270 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ศักยภาพของท่อส่งน้ำสายหลักยังสามารถผันน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง-ชลบุรี ได้เฉลี่ย 50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และพื้นที่ลุ่มน้ำประแสร์-คลองใหญ่-หนองปลาไหล ผันน้ำได้เฉลี่ย 140 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงสามารถเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกได้เกือบทั้งหมด แต่ในปี พ.ศ.2566 นี้สถานการณ์ภัยแล้งจากการรายงานของกรมชลประทานและหน่วยงานราชการที่ดูแลด้านน้ำต่างออกมาให้ความเห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกันว่าภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนที่จะตกในพื้นที่ประเทศไทยอย่างมากและการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆค่อนข้างที่จะกระทำได้ยาก ต้องเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่และหาพื้นที่รองรับน้ำฝนที่จะตกในฤดูกาลที่กำลังจะมาถึงล่วงหน้าอย่างรอบด้าน

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกในปัจจุบันปริมาณน้ำที่มียังสามารถใช้อุปโภค บริโภคใช้ทำอุตสาหกรรมและทำการเกษตรเพียงพอในระดับที่ดีมีปริมาณน้ำกักเก็บรวมประมาณ 80-90%  แต่หากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงจากปรากฏการณ์เอลนีโญปริมาณน้ำจะลดลงกว่าครึ่งเพราะฝนจะหยุดตกและทิ้งช่วงยาวตั้งแต่ปลายตุลาคม พ.ศ.2566 ปริมาณน้ำหลักจากน้ำฝนก็จะหายไป ปริมาณน้ำสำรองที่เตรียมเอาไว้ใช้ก็จะลดลงและอาจจะไม่เพียงพออาจจะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งภาคตะวันออกเช่นเดียวกับช่วงปี พ.ศ. 2548 และในปี พ.ศ.2562 ได้ แต่ในสถานการณ์น้ำปี พ.ศ.2567 ต้องประเมินอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชลบุรีที่ปริมาณน้ำกักเก็บ 2อ่างเก็บน้ำเท่านั้น ที่บางพระและหนองค้อ อีกทั้งปริมาณน้ำใช้ไม่สมดุลกัน เนื่องจากจำนวนปริมาณการใช้น้ำในการอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมมากกว่าปริมาณที่กักเก็บน้ำได้ ส่วนจังหวัดระยองไม่ค่อยกังวลเรื่องปริมาณน้ำสำรองมากนักและปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่ที่ดูแลยังใช้น้ำสมดุลต่อเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมเองมีการทำการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ของตนเอง ในภาคการท่องเที่ยวมีปริมาณการใช้น้ำน้อยกว่าในพื้นที่ชลบุรีและหากปริมาณน้ำในพื้นที่ระยองพื้นที่ใดมีไม่เพียงพอในการใช้ พื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากเกินความต้องการก็จะแบ่งปันปริมาณใช้ยามฉุกเฉินส่งตามท่อหล่อเลี้ยงให้การใช้น้ำเพียงพออย่างเป็นระบบ เป็นต้น

“หากปริมาณน้ำต่อเนื่องจากปี พ.ศ.2566 ลดลงจากฝนทิ้งช่วง ต้องวางแผนเก็บน้ำบริหารจากชลประทาน หน่วยราชการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าระบบของอีส วอเตอร์เป็นต้นทุนน้ำสำรองเอาไว้เพราะไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะมีระยะเวลายาวนานแค่ไหน และหากมีปริมาณน้ำฝนตกลงมามากเกินการรองรับจะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างที่ผ่านมาในพื้นที่ใดบ้าง อีส วอเตอร์ก็ต้องเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วมด้วยการทยอยปล่อยน้ำบางส่วนในพื้นที่กักเก็บเพื่อป้องกันพื้นที่รองรับน้ำล้นน้ำท่วมน้ำหลากส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกด้วยเช่นกัน” เชิดชาย กล่าว

แผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่ภาคตะวันออก

อีสท์ วอเตอร์ ได้เตรียมแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งด้วยการลงทุนวางท่อน้ำดิบเพิ่มเติมอีก 2 โครงการหลัก ซึ่งถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง ในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ความยาวกว่า 60 กิโลเมตร โดยเชื่อมต่อกับท่อส่งน้ำสายหลักเส้นประแสร์-หนองปลาไหลเดิมของอีสท์ วอเตอร์ เพิ่มศักยภาพในการสูบส่งน้ำสู่พื้นที่ชลบุรีเพิ่มขึ้นอีก 120 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยได้รับอนุญาตการวางท่อในเขตทางหลวงพื้นที่ระยองแล้ว คงเหลือการอนุญาตการวางท่อในเขตทางหลวงพื้นที่ชลบุรี ทั้งนี้ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2566 เพื่อให้ทันต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ชลบุรีในปี พ.ศ.2567 ซึ่งการก่อสร้างท่อส่งน้ำนี้จะเป็นการสร้างศักยภาพที่สามารถนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังพื้นที่ชลบุรีได้โดยตรง และ2.โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบคลองหลวง จังหวัดชลบุรี ความยาวกว่า 45 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมายังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ แทนการผันน้ำผ่านคลองพานทองซึ่งมีน้ำสูญเสียจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 90% คงเหลือเฉพาะงานวางท่อส่งน้ำ และติดตั้งระบบสูบน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร เบื้องต้นอีสท์ วอเตอร์ได้ดำเนินการขออนุญาตจากกรมชลประทานในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลใช้งานหลัก ซึ่งกรมชลประทานไม่ขัดข้องให้อีสท์ วอเตอร์ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และให้ดำเนินการขออนุญาตกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ ได้ดำเนินการขออนุญาตต่อกรมธนารักษ์ไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ปัจจุบันยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตจากกรมธนารักษ์ และเมื่อได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ จะได้เร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ชลบุรีในปี พ.ศ.2567

นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์ ยังมีแผนการแก้ปัญหาภัยแล้งอีกหลายโครงการที่จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น โครงการสูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง โครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำเอกชน โครงการบริหารระบบสูบน้ำกลับวัดละหารไร่ โครงการบริหารระบบสูบน้ำกลับคลองสะพาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของแหล่งน้ำต้นทุน และโครงข่ายท่อส่งน้ำ ของอีสท์ วอเตอร์ มั่นคง และแข็งแกร่งที่สุด ในภาคตะวันออก รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้มีเสถียรภาพมั่นคงอย่างยั่งยืน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save