EEC ระเบียงเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดนักลงทุน กับกุญแจดอกที่ 10 Energy and Environment


ท่านที่ติดตามฟังสัมมนาและอ่านเอกสารแล้ว หากยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมี EEC : Eastern Economic Corridor ใช้ชื่อภาษาไทยที่จำยากหน่อยว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ซึ่งหมายรวมเพียงจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยรัฐได้ทุ่มทุนกว่า 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการนี้ จุดเริ่มต้นมาจากไหน ใครเป็นผู้คิดโครงการ แต่ได้ทราบจากคำกล่าวของท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยปัจจุบันในงานสัมมนางานหนึ่งว่า โครงการ EEC ถือกำเนิดมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในภาคตะวันออกเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ในครั้งนั้นได้มีการเสนอโครงการ EEC และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ นับแต่นั้นเป็นต้นมาสัญญาณชีพของ EEC ก็เริ่มต้นขึ้น EEC ไม่ใช่เพียงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีเดิมพันสูงระดับภูมิภาค อันเนื่องมาจากการช่วงชิงการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนเพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่า หากยังเดินหน้าแบบเดิมๆ นักลงทุนอาจตัดสินใจลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของเรากันหมด ปัจจุบันหลายๆ ประเทศได้มีมาตรการช่วงชิงการเป็นศูนย์กลางการลงทุนก่อนหน้าประเทศไทยแล้ว และสิ่งที่ควรคำนึงในการขยายการลงทุนนั่นก็คือ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ต้องสมดุลตาม COP26 ว่าด้วย Carbon Neutral ไม่เช่นนั้นไทยอาจเสียมากกว่าได้

Key of Success ของ EEC นั่นก็คือ การปลดล็อกพันธนาการต่างๆ เปรียบได้กับกุญแจ 9 ดอก ที่ต้องเปิดสู่การแข่งขัน สรุปโดยรายการ EEC Focus ช่อง TNN16 แต่สำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นชาว EEC โดยกำเนิด ขอเสนอกุญแจ 9+1 ดอก ดังนี้

กุญแจดอกที่ 1 : แรงงานทักษะสูง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การมีข้อเสนอพิเศษให้กับแรงงานทักษะสูงในด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดีกว่า มากกว่าแรงงานทั่วไป เพื่อเชิญชวนผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น

กุญแจดอกที่ 2 : แรงงานทักษะต่ำและแรงงานต่างด้าว ด้วยโครงสร้างของประชากรไทยที่เปลี่ยนไปและมีปริมาณไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และพัฒนาแรงงานทักษะต่ำของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งดูแลไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์ ลดนายหน้าค้าแรงงานด้วยการใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแรงงานให้เหมาะสม จับคู่ความต้องการของผู้ประกอบการและความสามารถของแรงงาน นอกจากนี้ การขอใบอนุญาตทำงานจะต้องสะดวก รวดเร็ว และแรงงานไม่ถูกเอาเปรียบ

กุญแจดอกที่ 3 : โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและฝ่ายจำหน่ายได้มีการพัฒนาโครงข่ายนำร่องในพื้นที่เป้าหมายแล้ว และคาดว่าจะสามารถนำมาทดลองใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ภายในปี พ.ศ. 2565 นี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ZERO Carbon ตาม COP26

กุญแจดอกที่ 4 : การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้การแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างเสมอภาค การขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรต่างๆ ของประเทศไทยควรมีมากขึ้นและใช้ระยะเวลาดำเนินการน้อยลง เพื่อเป็นการเชื้อเชิญให้ชาวต่างชาติกล้าลงทุน และเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่นด้านการปราบปรามการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

กุญแจดอกที่ 5 : บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนด้านการส่งเสริมการลงทุนอย่างมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงทำให้การขอดำเนินงานผ่านขั้นตอนจำนวนมาก ดังนั้นการนำระบบไอทีและการบริการแบบเบ็ดเสร็จจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

กุญแจดอกที่ 6 : การผนึกกำลังทูตพาณิชย์ เพื่อดึงบริษัทใหญ่ในต่างประเทศที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยออกนโยบาย “วัดตัวตัดสูท” เพื่อเชิญชวนบริษัทชั้นนำและจัดตั้งทีมดูแลด้านการลงทุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรืออาจมีมาตรการจูงใจ เช่น ด้านภาษี และด้านคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

กุญแจดอกที่ 7 : การขยายผล EEC สู่เขตเศรษฐกิจภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค เพื่อให้นักลงทุนสามารถเลือกพื้นที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ หรือใกล้กับลูกค้า และเหมาะสมกับอุตสาหกรรม ได้แก่ ภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย และนครราชสีมา ภาคกลาง-ภาคตะวันตก ได้แก่ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และภาคใต้ ได้แก่ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

กุญแจดอกที่ 8 : การให้วีซ่าระยะยาว (Long-Term Residence Visa : LTR Visa) เพื่อดึงดูดกลุ่มชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงและผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมทั้งสามารถนำครอบครัวมาได้ และสามารถถือครองที่ดินได้ และควรอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือวีซ่าประเภทนี้ ไม่ต้องรายงานตัวเป็นประจำทุกปี

กุญแจดอกที่ 9 : รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Matching Fund) เพื่อสนับสนุนบริษัทในธุรกิจ Start Up ของประเทศไทย อาจจัดให้มีการร่วมทุนแบบ Co-Investment ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจ Start Up สามารถนำเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรน (Soft Loan) ที่ได้จากรัฐบาลเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนอื่นได้ในมูลค่ารวมไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยเอกชนและภาครัฐลงกันคนละครึ่ง และในภายหลังภาครัฐอาจพิจารณาเปลี่ยน Soft Loan เป็นหุ้นหรือขายให้กับนักลงทุนอื่นได้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการคัดกรองการลงทุน ซึ่งเป็นแนวทางที่นิยมใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้วในอาเซียน

กุญแจดอกที่ 10 : การกระจายอำนาจ เพื่อให้เขตพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่เขตปกครองพิเศษเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครและพัทยาที่สามารถบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและปลดล็อกปัญหาด้วยกุญแจทั้ง 9 ดอกได้อย่างมีประสิทธิภาพให้กับ EEC คำตอบสุดท้ายก็คือ การกระจายอำนาจ

EEC

EEC พื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจที่มีต้นทุนสูง โดยเปรียบเทียบจาก GPP : Gross Provincial Product หมายถึง มูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของจังหวัด 3 อันดับแรกของประเทศไทย อันดับที่ 1 คือ จังหวัดระยอง 831,734 บาท อันดับที่ 2 กรุงเทพฯ 585,689 บาท และอันดับที่ 3 จังหวัดชลบุรี 471,723 บาท (ที่มา : ThaiPBS 21 พ.ค. 65) ดังนั้นจังหวัดระยองจึงเปรียบเสมือนเมืองหลวงของ EEC ที่พร้อมจะเป็นทัพหน้าในสงครามเศรษฐกิจครั้งนี้ โดยไม่ทิ้งจังหวัดจันทบุรีและตราดไว้ข้างหลัง

EEC ในมุมมองของประธาน ส.อ.ท. คนใหม่
คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ในอดีตประเทศไทยได้พลิกโฉมก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

เกรียงไกร เธียรนุกุล

จนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 40 ปี ท่ามกลางความอิ่มตัวของอุตสาหกรรมใน Eastern Seaboard เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน และอุตสาหกรรมหลักของโลกก็เปลี่ยนจากการใช้แรงงานมาสู่อุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าการพัฒนาไปสู่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) เพื่อต่อยอดและรองรับการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งคาดว่า EEC จะช่วยทำให้เกิดการลงทุนประมาณ 2.2-2.5 ล้านล้านบาท และช่วยให้ GDP ไทยเติบโตที่ 4% ในปี พ.ศ. 2565

การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการขยายตัวของโรงงาน ชุมชน และเมือง จนอาจส่งผลต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC ซึ่ง ส.อ.ท. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ EEC สู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ พร้อมทั้งขับเคลื่อนนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการ Smart Agricultural Industry หรือ SAI เพื่อเสริมจุดแข็งให้ภาคการเกษตรของไทย

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดตลาดกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065

ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งระดับนโยบายและในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนให้ EEC เกิดการพัฒนาในทุกมิติอย่างสมดุล เพื่อนำประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 111 พฤษภาคม-มิถุนายน 2565 คอลัมน์ บทความ โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save