กระทรวงพลังงาน ผนึก 75 องค์กรชั้นนำ สานต่อเครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน “Energy Beyond Standards 2024” ร่วมประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม สร้างต้นแบบองค์กรใช้พลังงานประสิทธิภาพสูง คาด 6 เดือน ช่วยลดใช้ไฟฟ้าได้กว่า 500 ล้านหน่วย คิดเป็นเงิน 2,500 ล้านบาท บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 240 พันตันคาร์บอน
โดยมี ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน “Energy Beyond Standards 2024” โดยมี นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พร้อมด้วย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายพิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย และ นายรวิวัฒน์ พนาสันติภาพ กรรมการสถาบันพลังงาน สภาอุตสาหกรรม ร่วมกับองค์กรภาครัฐ เอกชนชั้นนำกว่า 75 แห่ง แสดงความมุ่งมั่นร่วมกันดำเนินการอนุรักษ์พลังงานภายในองค์กร พร้อมกระตุ้นให้เกิดกระแสความความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากราคาพลังงาน
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เร่งผลักดันนโยบายการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประกาศเจตนารมย์จากภาครัฐและเอกชนทั้ง 75 องค์กรในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญให้เกิดการสานต่อและสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงาน สร้างความร่วมมือการให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับมาตรการที่มุ่งเน้น คือ การดำเนินการภายใต้มาตรการ 5 ป. (“ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน ปลูก”) ทั้งนี้จากมาตรการที่หน่วยงานแต่ละแห่งจะดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานนั้น คาดว่าในช่วง 6 เดือน (ก.ย. 67 – ก.พ. 68) จะส่งผลในภาพรวมเกิดการลดใช้ไฟฟ้าได้กว่า 500 ล้านหน่วย ลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าพลังงานของประเทศได้สูงถึง 2,500 ล้านบาท เทียบเท่าแอลเอ็นจี 68,500 ตัน บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 240 พันตันคาร์บอน อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้ได้ในปี ค.ศ. 2050
วัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน “Energy Beyond Standards 2024” ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรชั้นนำรวมทั้งสิ้นจำนวน 75 แห่ง อาทิ กลุ่มบริษัทเครือปตท. เครือเซ็นทรัล ค่ายรถยนต์โตโยต้า และSCG เป็นต้น โดยทุกองค์กรที่มาร่วมกันจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยลดการใช้พลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน ในองค์กร ทั้งนี้ พพ.จะให้การสนับสนุนด้านเทคนิค การฝึกอบรมให้ความรู้ การให้คำปรึกษาและแนะนำ ตลอดจนเผยแพร่ผลสำเร็จและความรู้ด้านอนุรักษ์พลังงานสู่สาธารณชน กระตุ้นทุกภาคส่วนให้เกิดความตระหนักและเกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
“สำหรับการประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน พพ.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งโดยหลังจากนี้ พพ.จะมีการติดตามผลการประหยัดพลังงาน รายงานผ่านระบบ online และจัดตั้ง energy clinic ในการให้คำปรึกษาทั้งด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ตลอดจนให้คำแนะนำแหล่งเงินลงทุน โดยผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ไว้รองรับกิจกรรมนี้ด้วยแล้ว” วัฒนพงษ์ กล่าว
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม สร้างต้นแบบองค์กรใช้พลังงานประสิทธิภาพสูง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง และได้เดินหน้าโครงการ การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management หรือ DSM) เป็นภารกิจที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ กฟผ. ดำเนินการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ชื่อ “โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า” (Together Conservation) และได้ดำเนินการโครงการ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” มาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ยังคงดำเนินการต่อเนื่องกับ โครงการ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” โดยการประสานแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน มุ่งรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า และมีประสิทธิภาพ กฟผ. จึงใช้แนวทางในการดำเนินโครงการจึงมุ่งที่จะใช้วิธีจูงใจ โดยการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า แก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกตามประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า คือ กลุ่มภาคที่อยู่อาศัย กลุ่มภาคธุรกิจ และกลุ่มภาอุตสาหกรรม ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “3 อ.” คือ อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า อาคารประหยัดไฟฟ้า และอุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า ภายใต้กลยุทธ์ 3 อ. 1) อ. อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า : ภาคที่อยู่อาศัยที่ได้ดำเนินการในภาคที่อยู่อาศัยนี้จึงมุ่งเป้าหมายไปที่การส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อการประหยัดพลังงานที่ยั่งยืน 2) อ. อาคาร/โรงงานประหยัดไฟฟ้า ภาคธุรกิจ/ภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำมาสู่ภาคการบริหารการใช้ไฟฟ้า การปรับปรุงระบบป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร การใช้ระบบปรับอากาศประสิทธิภาพสูง อีกทั้งยังจัดการอบรมให้ความรู้ด้านการใช้พลังงานอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้ 3) อ. อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้าคือการสร้างการเรียนรู้สู่เยาวชน และประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมแก่ประชาชน โดยการสร้างเครื่อข่ายของสมาชิกให้เจาะถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นและทัศนคติที่ดีต่อผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 เพื่อนำไปสู่สมาชิกครอบครัวเบอร์ 5 ต่อไป
สมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยได้ดำเนินการตามนโยบายอนุรักษ์พลังงานพลังงานและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการวัดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30% ภายในปีพ.ศ. 2573พร้อมทั้งยังมีการบริหารจัดการพลังงานด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน อาทิ การปรับปรุงระบบการทำความเย็นและระบบปรับอากาศขนาดใหญ่การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในที่ต่าง ๆ ตลอดจนการเข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียวรวมถึงการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรของเราและที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือการสร้างวัฒนธรรมสีเขียวการส่งเสริมการตระหนักรู้ และนอกจากนี้ในส่วนของพันธกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยในด้านการผลิตและการกระจายธนบัตรนั้นได้เริ่มใช้วัสดุพอลิเมอร์ทดแทนกระดาษในการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการผลิตธนบัตรใหม่ในการทดแทนธนบัตรเก่าที่เสื่อมสภาพเนื่องจากวัสดุพอลิเมอร์ มีอายุการใช้งานมากกว่ากระดาษประมาณสาม 3-4 เท่า ของอายุการใช้งานซึ่งจะช่วยให้วงจรการผลิตและการกระจายธนบัตรใช้พลังงานน้อยลง นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยการผลักดันผ่านภาคการเงินให้สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจองค์กรต่าง ๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะ SCB และองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของเศรษฐกิจไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าต้องเริ่มทำจากก้าวเล็กๆ เร่งผลักดันให้สถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคหน่วยงานต่าง ๆภาคธุรกิจจากการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ก้าวไปสู่การดำเนินงานที่มีผลกระทบให้น้อยลง
รวิวัฒน์ พนาสันติภาพ กรรมการสถาบันพลังงาน สภาอุตสาหกรรม กล่าว่า ภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นปัจจัยและต้นทุนหลักของภาคการผลิตที่เราใช้พลังงานเป็นกิจกรรมหลักของสถาบัน ในขณะเดียวกันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ได้ตระหนักและทราบถึงความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานมาโดยตลอด และได้มีกิจกรรมต่างๆที่ได้ทำร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ อาทิ โครงการอนุรักษ์พลังงานโดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการประหยัดพลังงาน การจัดให้มีหลักสูตรสำหรับผู้บริหารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงการได้มาซึ่งพลังงานต้นทุนพลังงานรวมทั้งการถ่ายทอดการประหยัดพลังงานจากผู้มีประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรม โดยทั้งสองกรณีนี้จะเป็นการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์พลังงาน ต่อจากนั้นยังมีการพัฒนาบุคลากรด้วยการจัดอบรมศึกษาดูงาน ด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศซึ่งเป็นโครงการที่ได้จัดขึ้นทุกปี รวมทั้งการถ่ายทอดนโยบายและสื่อสารความรู้ต่างๆที่ได้มาจากภาครัฐสู่เอกชน การดำเนินการต่างๆที่ผ่านมานั้นมีเป้าหมายการลดต้นทุนพลังงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการช่วยลดคาร์บอนให้ลดน้อยลงและเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงพลังงาน
พิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการพลังงานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ความต้องการใช้พลังงานพลังงานของประเทศไทยทุกภาคส่วนมีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการปรับเปลี่ยนของประเทศไทย ในการแก้ระยะสั้นให้ประสิทธิภาพคือทุกฝ่ายร่วมกันประหยัดอนุรักษ์และใช้พลังงานทดแทน ส่วนระยะยาวมองว่าควรต้องเพิ่มสัดส่วนในการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป้าหมาย Carbon neutrality และ net zero เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนของประเทศ ทั้งในรูปแบบของการประหยัดการปรับเปลี่ยนใช้พลังงานหมุนเวียน พร้อมกับสนับสนุนเทคนิคเรื่องการฝึกอบรมให้ความรู้ให้คำแนะนำและ จากกรมพัฒนาพลังงานพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนส่วนงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนำไปสู่การลดการปล่อยการเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้