กระทรวงพลังงาน ดันร่างกฏหมายปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป – สนพ.เผยความต้องการใช้ไฟฟ้าปี’68 ใกล้เคียงปีนี้


“พีระพันธุ์” เร่งทำผลงานส่งท้ายปี ดันร่างกฏหมายปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป สนพ.เผยความต้องการใช้ไฟฟ้าปี’68 ใกล้เคียงปีนี้ คาดขยายตัวเพียง 2.5% ขณะที่สถิติ 9 เดือนแรกปี’67 ใช้ไฟเพิ่มพรวด 6.1% พิษอากาศร้อน แถมท่องเที่ยวคึกคัก

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กำลังเตรียมนำเสนอร่างกฎหมายสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานจากแสงอาทิตย์ (ระบบโซลาร์รูฟท็อป) เนื่องจากปัจจุบันการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และมีราคาแพง รวมถึงมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถึง 5 แห่ง เช่น ที่ทำการท้องถิ่น (เขต), คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), การไฟฟ้านครหลวง/การไฟฟ้าภูมิภาค

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีให้ยกเว้นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปทุกกำลังการผลิตที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน ไม่ต้องขอใบอนุญาตอีก ในขณะที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก็เร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อปลดล็อคเรื่องการขออนุญาตติดตั้งเช่นกัน ส่วนปัญหาราคาในการติดตั้งอุปกรณ์โซลาร์ที่มีราคาแพงนั้น กระทรวงพลังงานได้มีการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งผ่านการทดสอบคุณภาพจาก สวทช. ในขั้นตอนแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยการประดิษฐ์แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25 ธันวาคม 2567

“ผลของกฎหมายนี้จะช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากภาระค่าไฟแพง ช่วยสร้างอาชีพใหม่ คือ อาชีพติดตั้งโซลาร์เซลล์-รูฟท็อป ได้เตรียมเสริมสร้างทักษะอาชีพที่ผ่านการอบรมจากกระทรวงพลังงาน รวมถึงการปรับปรุงเงื่อนไขของกองทุนสนับสนุนให้กับพี่น้องประชาชนที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไว้แล้วด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว

คาดรัฐตรึงค่าไฟฟ้ายาวทั้งปี’68

วัฒนพงษ์ คุโรวาท

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ความต้องการใช้พลังงานในปี 2568 คาดว่าจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกับปี 2567 โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2568 ยังคงเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับการผลิตไฟฟ้านอกระบบทยอยเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น รวมถึงการปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป ไม่ต้องขออนุญาต ทำให้หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองในครัวเรือนมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า การใช้ไฟฟ้าทั้งในและนอกระบบการไฟฟ้าจะขยายตัว 2.5% ในปี 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 3.0% ในปี 2569-2571 จากการส่งเสริม Direct PPA/IPS ที่มากขึ้น ขณะที่ค่าไฟฟ้าปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2567 ที่ 4.10-4.20 บาท/หน่วย จากนโยบายลดค่าพลังงานของรัฐบาล ที่คาดว่าจะตรึงค่าไฟฟ้าให้ใกล้เคียงกับปี 2567 และไม่เกิน 4.18 บาท/หน่วย ซึ่งในค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 2568 อยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย

ใช้ไฟฟ้า 9 เดือนปี’67 เพิ่ม 6.1%

สำหรับการใช้ไฟฟ้าช่วง 9 เดือนของปี 2567 รวมทั้งสิ้น 163,311 จิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 6.1% โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 41% อยู่ในภาคอุตสาหกรรม มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.8% ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9.1% ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพอากาศร้อน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 216,087 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปี 2566

สอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงต้นปีจากภาวะเอลนีโญ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวของภาคการส่งออก ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในทุกสาขาเศรษฐกิจโดยเฉพาะสาขาธุรกิจและการใช้ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (System Peak) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.24 น. ที่ระดับ 36,792 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 5.6% ซึ่งเป็นไปตามที่ สนพ.คาดการณ์ไว้ว่าช่วงฤดูร้อนของปี 2567 อาจเกิดยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของประเทศมากกว่า 35,000 เมกะวัตต์

อานิสงส์ท่องเที่ยว-ส่งออกฟื้น

ด้านการใช้ไฟฟ้าในโรงแรมที่เพิ่มขึ้น 12.2% สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 71% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ ปี 2567 จะขยายตัวในช่วง 2.6% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการขยายตัวของการส่งออกตามการฟื้นตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศ


ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save