สนพ. คาดการณ์การใช้พลังงานปี’66 เพิ่มขึ้น 2.8% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ


สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผยสถานการณ์ไฟฟ้าปี พ.ศ.2565 มียอดใช้พลังงานขั้นต้น อยู่ที่ระดับ 1,990 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2564 เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลงและประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ภาวะปกติเพิ่มมากขึ้น สำหรับปี พ.ศ.2566 คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานขั้นต้นปีจะเพิ่มเพียงร้อยละ 2.8 จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น

วัฒนพงษ์ คุโรวาท

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์พลังงานในปี พ.ศ. 2565 การใช้พลังงานขั้นต้น อยู่ที่ระดับ 1,990 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงเล็กน้อยเพียง ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2564  โดยเป็นการลดลงจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ 9.6% และการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลง 9.1% ในส่วนของการใช้ในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาถ่านหินปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 14.9% เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้น 11.1% ตามปริมาณฝนและน้ำในเขื่อน รวมทั้งการนำเข้าไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

วัฒนพงษ์ กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงของปี พ.ศ 2565 สรุปได้ดังนี้

1. การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ภาพรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14.4% อยู่ที่ระดับ 137.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 15.7% มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 73.1 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ เพิ่มขึ้น 3.9% มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 30.2 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 87.7% มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 9.2 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันเตา เพิ่มขึ้น 15.4% มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.4 ล้านลิตรต่อวัน

2. การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ภาพรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.6% อยู่ที่ระดับ 6,448 พันตัน จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 4.8% และ ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 3.8% สำหรับภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้น 1 % ขณะที่การใช้ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นถึง 30.3% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ใช้รถส่วนหนึ่งหันกลับมาใช้ LPG ทดแทนน้ำมัน

3. การใช้ก๊าซธรรมชาติ ภาพรวมเฉลี่ยลดลง 5.7% มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 4,143 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยลดลงจากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าและการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า ลดลงถึง 6.4% เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณลดลง ทำให้มีความจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แบบสัญญาจร (Spot LNG) เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

สำหรับการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดลง 14.2% ในส่วนของการใช้ในภาคอุตสาหกรรม มีการใช้เพิ่มขึ้น 4.4% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การส่งออกสินค้า และการใช้ในภาคขนส่ง เพิ่มขึ้น 8.8% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลง 9.0% อยู่ที่ระดับ 16,997 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ สอดคล้องกับปริมาณการผลิตภายในประเทศที่ลดลง

4. การใช้ไฟฟ้า ภาพรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.5% อยู่ที่ 197,209 ล้านหน่วย จากการใช้ที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้น ครัวเรือนและภาคเกษตรกรรม สำหรับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (System Peak) ของปี พ.ศ. 2565 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565 ณ เวลา 14:30 น. ที่ระดับ 33,177 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับ Peak ของปี พ.ศ. 2564 ที่ระดับ 31,023 เมกะวัตต์ โดยใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 2.5% สำหรับภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 11% โดยกลุ่มธุรกิจสำคัญที่มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรม เพิ่มขึ้น 44.3% ธุรกิจอพาร์ทเม้นท์และเกสเฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 14.1% และธุรกิจห้างสรรพสินค้า เพิ่มขึ้น 10.2% เป็นต้น

คาดภาพรวมการใช้พลังงานปี ’66 เพิ่มขึ้น 2.8% ที่ระดับ 2,047 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

วัฒนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2566  สนพ.ได้คาดการณ์โดยอ้างอิงสมมติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าภาพรวมการใช้พลังงานในปี พ.ศ. 2566 จะเพิ่มขึ้น 2.8% อยู่ที่ระดับ 2,047 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากตอนนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้การใช้พลังงานต่างๆเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ จะเพิ่มขึ้น 0.7% จากการใช้ถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้น การใช้น้ำมัน จะเพิ่มขึ้น 4.6% โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเครื่องบิน จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินจากต่างประเทศ การใช้ก๊าซธรรมชาติ จะเพิ่มขึ้น 1.8% การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า จะเพิ่มขึ้น 4.4% สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความต้องการการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2566 คาดว่าจะอยู่ที่  203,322 GWh หรือเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่ 34,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 1,000 เมกกะวัตต์ จากปี พ.ศ.2565 ผ่านมา โดยในปี พ.ศ.2566 นี้สัญญาณการใช้ไฟสูงขึ้น หรือ Peak เริ่มไต่ระดับสูงขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2566 เวลา 15.43 น. อยู่ที่ 31,054.6 เมกะวัตต์ เนื่องจากอากาศร้อนมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น สภาพเศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้น รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น และภาคบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้มั่นใจว่าแม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้น การดูแลปริมาณเชื้อเพลิงที่เพียงพอสำหรับป้อนผลิตไฟฟ้า เนื่องจากในตอนนี้สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แบบสัญญาจร (Spot LNG) ได้ปรับราคาลดลงมาอยู่ระหว่าง 12-13 เหรียญสหรัฐต่อล้าน BTU ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่แพง และราคาได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว  เมื่อนำ LNG ที่มีราคาถูกลงไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าก็จะทำให้ต้นทุนราคาไฟฟ้าถูกลงตามไปด้วย

คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี ’66 จะขยายตัว 2.6%

ในส่วนของสถานการณ์ราคาพลังงาน สศช. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี พ.ศ. 2566 จะอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2566 จะอยู่ที่ 32.2-33.2 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2566 จะขยายตัว 2.6% และเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี พ.ศ. 2566 จะขยายตัวในช่วง 2.7-3.7% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และภาคการเกษตร

ส่วนแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อย ประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ในรอบที่ 2 นั้น เบื้องต้นอยู่ระหว่างการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในขณะนี้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีก็เป็นรัฐบาลรักษาการและรัฐมนตรีรักษาการอาจจะมีเรื่องของงบประมาณกลางต่างๆที่อาจจะนำมาใช้ได้บางส่วน คาดว่าถ้าจะต้องอุดหนุนในรอบบิล เดือนพฤษภาคม –สิงหาคม ศกนี้ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณใกล้เคียงกับรอบก่อนประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยมีทั้งการใช้งบประมาณกลางและเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอุดหนุน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save