ESG กับ Green Productivity


ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นผลกระทบจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) ต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยแล้ว โดยเห็นได้จาก “มาตรการกีดกันทางการค้าและ การลงทุน” ของประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศไทย (หากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยมีการผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูง)

คือ สหภาพยุโรปกำลังนำมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) โดยกำหนดให้เก็บค่าใบรับรองคาร์บอนในสินค้าที่นำเข้าสหภาพยุโรป โดยประเมินจากส่วนต่างของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้า กับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อนุญาตให้มีการปล่อยได้ในสินค้าแต่ละประเภท เพื่อเป็นค่าปรับในสินค้านำเข้าที่มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่า

ระยะเริ่มแรกนี้ สหภาพยุโรปจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้า 5 กลุ่มแรก ได้แก่ (1) เหล็กและเหล็กกล้า (2) ซีเมนต์ (3) กระแสไฟฟ้า (4) ปุ๋ย และ (5) อะลูมิเนียม และมีแนวโน้มจะขยายไปสู่สินค้ากลุ่มอื่นๆ อีก ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติก แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ และโพลีเมอร์ โดย CBAM เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ดังนั้นหากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยไม่ปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกก็จะลดลง ซึ่งจะส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง และ GDP ของประเทศไทยลดลงด้วย

ส่วนภาคการเงินและตลาดทุน นักลงทุนก็เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน โดยผ่านแนวความคิดเรื่อง “ESG” (Environment, Social, & Governance) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเติบโตควบคู่ไปกับความรับผิดชอบใน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) สิ่งแวดล้อม (2) สังคม และ (3) บรรษัทภิบาล ซึ่งเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน พร้อมกับช่วยสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย

ดังนั้นหากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยยังไม่ปรับตัว ตามแนวความคิดเรื่อง “ESG” แล้ว นักลงทุนรายใหญ่ทั่วโลกอาจเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกจากประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะกระทบในเชิงลบต่อ GDP ในที่สุด

แม้ว่าการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปรับตัวให้กับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ผลจากงานวิจัยในอดีตพบว่า หากได้รับการช่วยเหลือที่เพียงพอทั้งเงินทุนและองค์ความรู้ พร้อมกฎหมายที่ยืดหยุ่นจากภาครัฐแล้ว การลงทุนเพื่อปรับตัวไปสู่การผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยได้ในที่สุด

ในระยะยาวแล้ว แนวความคิดเรื่อง ESG จึงสอดคล้องกับเรื่องของ “Green Productivity” ซึ่งจะทำให้กิจการต่างๆ มี “ผลิตภาพ” สูงขึ้น และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย ครับผม!


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 120 พฤศจิกายน – ธันวาคม 2566 คอลัมน์ Productivity โดย ดร. วิฑูรย์ สิมะโชคดี


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save