กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดีเอ็มจี อีเว้นท์ โกลบอลล์ เอนเนอร์ยี เปิดงาน “Future Energy Asia and Future Mobility Asia 2023” งานประชุมด้านพลังงานและนวัตกรรมยานยนต์แห่งภูมิภาคเอเชีย เพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระดับภูมิภาคเพื่อจัดการกับปัญหาด้านพลังงาน และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมพลังงานในภูมิภาคเอเชียด้วยพลังงานสะอาดและนวัตกรรมยานยนต์ ภายในงานนอกจากมีการจัดประชุมในหัวข้อเกี่ยวกับพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้าและการคมนาคมแล้วยังจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การจัดแสดงนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้าการออกบูธจากผู้เข้าร่วมงานภาคเอกชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อจัดแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยียานยนต์พลังงานสะอาดอีกด้วย ระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566ณ Hall 1 ชั้นGศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีพ.ศ.2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งการจัดงาน “Future Energy Asia and Future Mobility Asia 2023″ ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมดังกล่าวได้ ผ่านแพลตฟอร์มความร่วมมือทางธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในอุตสาหกรรมพลังงานและยานยนต์ ผ่านการประสานภาคธุรกิจ นวัตกร และฝ่ายนโยบาย ให้สามารถสร้างก้าวสำคัญในการข้ามความท้าทายด้านพลังงานทั้ง3ประการ (Energy Trilemma) ได้แก่ 1.การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน2.การเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม และ3.ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมาช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก
งาน “Future Energy Asia and Future Mobility Asia 2023” งานประชุมด้านพลังงานและนวัตกรรมยานยนต์แห่งภูมิภาคเอเชียในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่สำคัญที่จะช่วยหาแนวทางจากผู้เชี่ยวชาญจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการสัมมนา เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับเปลี่ยนวางยุทธศาสตร์ช่วยในการดำเนินนโยบายของภาครัฐร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานที่สะอาดเพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามเป้าประสงค์ที่วางเอาไว้
มร. คริสโตเฟอร์ ฮัดสัน ประธานบริษัท ดีเอ็มจี อีเว้นท์ โกลบอลล์ เอนเนอร์ยี กล่าวว่า งาน “Future Energy Asia and Future Mobility Asia 2023″ ในปีนี้ยังคงผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งภูมิภาคเอเชีย โดยเชื่อว่าหนทางสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมมาสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ต้องมีการปรับทั้งโครงสร้างพลังงาน พร้อมกับการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการเข้าถึงพลังงาน และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ควบคู่กัน การนำเสนอนวัตกรรมและโซลูชันล่าสุดที่จะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงาน ตลอดจนแนวนโยบายจากผู้นำด้านพลังงานในงานฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี เอเชีย และฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย ครั้งนี้ จะเป็นรากฐานสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมพลังงานในเอเชียและทั่วโลก
ประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านบริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า ปตท.ได้วางหมุดหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านก๊าซธรรมชาติเหลวของภูมิภาค ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีคาร์บอนต่ำนี้ไม่ได้มีที่มาจากข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีอีกด้วย โดยประเทศไทยสามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ พร้อมกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานได้ด้วยการโอบรับโซลูชันพลังงานสะอาด ซึ่งงาน “Future Energy Asia and Future Mobility Asia 2023″ จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับการมุ่งย้ำวิสัยทัศน์และการกำหนดทิศทางการดำเนินแผนงานของปตท. ผ่านความร่วมมือกับภาครัฐและพันธมิตรในภาคเอกชน
ธนสิทธิ์ วิชัยไพโรจน์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) กล่าวว่า ความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมหาทางแก้ปัญหาร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด เป็นเรื่องที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำได้เร็วขึ้นสร้างประโยชน์ที่ดีแก่สังคมได้ในวงกว้าง ซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบันได้พยายามเร่งดำเนินการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปตท. สผ. เองได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2593โดยมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของการผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น พร้อม ๆ กับการแสวงหาโอกาสการลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่ รวมถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อดูแลรักษาและส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ดีให้สังคมและประชาชนในปัจจุบันและในอนาคต
ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการด้านยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างภาคส่วนและหน่วยงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแนวทางเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระยะยาว ดังนั้นงาน ฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี่ เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย จึงเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายสามารถร่วมแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงทำงานร่วมกันเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน
สำหรับไฮไลท์ภายในงาน “Future Energy Asia and Future Mobility Asia 2023” จะมีการจัดนิทรรศการแสดงนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำกว่า 300 แห่งจากกว่า 70 ประเทศมาร่วมออกบูธภายในงาน เช่น การจัดแสดงนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ และ 4 ล้อ ยานพาหนะทางอากาศแบบอัตโนมัติ รถเมล์ไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ การจัดแสดงโซลูชันยานยนต์อนาคตในรูปแบบอินเตอร์แอกทีฟและการสาธิตโมเดลการคมนาคมด้วยยานยนต์ไฟฟ้าในโลกเสมือนจริง เป็นต้น
พร้อมกันนี้การจัดประชุมเชิงกลยุทธ์ระดับสูงเกี่ยวกับพลวัตของตลาด และนวัตกรรมใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงศักยภาพของการใช้ไฮเดรเจนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การลดคาร์บอนในกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การเร่งลงทุนในโปรเจคใหม่ การปลดล็อคเทคโนโลยีใหม่ในภาคพลังงาน การบุกเบิกการเปลี่ยนแปลงในตลาดก๊าซหุงต้ม รวมไปถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมพลังงานยุคใหม่ การประชุมด้านเทคนิคกว่า 100 การประชุม และการบรรยายเวทีกลางโดยหน่วยงานด้านการลงทุน การคมนาคม และบริษัทยานยนต์พลังงานสะอาดระดับโลก อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ฝ่ายการพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืนแห่งธนาคารโลก บริษัท กูเกิล บริษัท วอลโว่ ทรัคส์ บริษัท วินฟาสต์ และบริษัท แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ เป็นต้น
สำหรับเป้าหมายในการจัดงาน ทางผู้จัดงานตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 18,000 ราย จากกว่า 70 ประเทศ คาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ.2573 เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก และความต้องการพลังงานในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าระหว่างปี พ.ศ.2556 – 2583