ในยุคที่สังคมตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น โซลูชันด้านการลดการใช้พลังงานและการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาดจึงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง หลายองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมไฟฟ้าได้หันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแผงโซลาร์เซลล์กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สำคัญ
นอกจากนี้ การสนับสนุนของรัฐบาลและมาตรการจูงใจต่าง ๆ เช่น นโยบายลดภาษี การให้เงินสนับสนุน หรือโครงการเครดิตคาร์บอน ได้ผลักดันให้ผู้บริโภคและองค์กรต่าง ๆ ใช้แผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น การผลิตในปัจจุบันยังมีการพัฒนาแผงที่ใช้วัสดุใหม่ ๆ เช่น แผงที่บางกว่า เบากว่า หรือยืดหยุ่นกว่าเดิม เพื่อตอบโจทย์ตลาดที่กำลังเติบโต ทั้งนี้ องค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมไม่เพียงแค่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์เท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนา ระบบจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) และเทคโนโลยีสมาร์ทกริด (Smart Grid) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บพลังงานไว้ใช้ในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงแดดได้อีกด้วย
เช่นเดียวกับ GCL ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 34 ปีก่อน โดยเริ่มต้นจากธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้า ปัจจุบันบริษัทตั้งอยู่ในมณฑลเซี่ยงไฮ้ บนพื้นที่กว่า 200,000 ตารางเมตร จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เกิดจากความต้องการพลังงานในช่วงที่ระบบไฟฟ้าของรัฐยังไม่เพียงพอ GCL จึงสร้างโรงไฟฟ้าแห่งแรกขนาด 50 เมกะวัตต์ที่เมืองไถชางในปี 1996
โคเบ ฉิน รองประธานบริษัท จีซีแอล เอสไอ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 34 ปีที่ผ่านมา GCL ได้เติบโตเป็นองค์กรขนาดใหญ่ โดยมีธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลาย ตั้งแต่พลังงานแสงอาทิตย์ (PV) ไปจนถึงเซมิคอนดักเตอร์ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charging) จนปัจจุบัน GCL ได้รับการจัดอันดับเป็นบริษัทพลังงานหมุนเวียนอันดับ 2 จาก 500 บริษัทชั้นนำ โดยมีสินทรัพย์มูลค่ากว่า 28 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีบริษัทในเครือที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 4 แห่ง
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ GCL คือมีแผนกวิจัยและพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งช่วยให้สามารถผลิตวัตถุดิบ เช่น เหล็ก ซิลิคอน แผ่นเวเฟอร์ ซีล และโมเดลต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ในที่นี้ เราจะเน้นเฉพาะโมเดลที่ใช้ซิลิคอนเท่านั้น ประสิทธิภาพเซลล์ซิลิคอน อยู่ที่ 28.5% ขณะที่ประสิทธิภาพเซลล์ในตลาดหลักปัจจุบันอยู่ที่ 26% โดยในไตรมาสที่ 1 หรือ 2 ของปีหน้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 26.5% และในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 จะใกล้ถึง 27%
ด้านเจอร์รี่ จิน ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริการทางเทคนิค บริษัท จีซีแอล เอสไอ (GCL SI) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ที่มีขนาด 182 มม. และ 210 มม. ซึ่งเป็นแผงที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ โดยแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 720 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งลดการสูญเสียพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่เกิดจากน้ำขังบนแผงโซลาร์เซลล์ ในกรณีที่แผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งในลักษณะเอียง หากมีน้ำขังนาน ๆ บริเวณผิวแผง น้ำอาจบดบังแสงแดด ทำให้พลังงานที่ผลิตลดลง และอาจนำไปสู่ปัญหาวงจรไฟฟ้าลัดวงจรได้ แผงรุ่นใหม่ของ GCL SI จึงออกแบบปลายแผงให้มีคุณสมบัติช่วยกำจัดปัญหาน้ำขังนี้ ทำให้แผงทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแม้ในพื้นที่ที่มีฝนตกบ่อย เพื่อตอบสนองความต้องการของสถานการณ์การใช้งานที่หลากหลาย ทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ GCL SI มีจุดเด่นสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอน (Carbon Emissions) ได้มากกว่าปกติถึง 70% เนื่องจากใช้ซิลิคอนคุณภาพสูงที่บริษัทผลิตเอง โดยกระบวนการผลิตครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการสกัดซิลิคอนจากเหมือง เพื่อลดฟุตพรินท์ (Footprint) ทางคาร์บอน ผ่านกระบวนการสร้างฟิล์มซิลิคอนที่มีประสิทธิภาพสูง นำไปอัดเป็นเวเฟอร์ (Wafer) และผลิตเป็นแผงโซลาร์เซลล์ กระบวนการผลิตแบบครบวงจรนี้จึงไม่เพียงช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในทุกขั้นตอน แต่ยังทำให้ GCL SI เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมซิลิคอนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน โดยผลการจำลองในห้องวิจัยและพัฒนา (R&D) พบว่าเมื่อเทียบกับโมเดลทั่วไป โมเดลแบบ Lotus สามารถเพิ่มการผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 20% และยังไม่มีความเสี่ยงด้านสุขอนามัย
เป้าหมายหลักของเราคือ มุ่งเน้นไปที่โครงการในระดับสาธารณูปโภค (Utility) และโครงการที่อยู่อาศัยในกลุ่ม C&I (เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม) ซึ่งถือเป็นทิศทางสำคัญในการดำเนินงานของเรา และมุ่งพัฒนากระบวนการทำงานให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างยั่งยืน รวมถึงร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับตลาดท้องถิ่น เช่น การนำเทคโนโลยีของ GCL ไปใช้ในพื้นที่การเกษตร ที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่อื่น ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีราคาย่อมเยาและเข้าถึงได้ในประเทศไทย
“เราตระหนักดีว่าในประเทศไทยมีบ้านเรือนจำนวนมากที่สามารถติดตั้งแผงโซลาร์ได้ ซึ่งมีประมาณ 22 ล้านหน่วย (มิเตอร์) อีกทั้งปัจจุบัน ราคาแผงโซลาร์ได้ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในปัจจุบัน ดังนั้น การติดตั้งแผงโซลาร์จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของบ้านควรพิจารณา อย่างไรก็ตาม GCL พร้อมทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการพัฒนาแพกเกจโซลูชันที่ตอบโจทย์ รวมถึงการสนับสนุนด้านเทคนิคในพื้นที่และการให้บริการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยให้พาร์ทเนอร์ของเราบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และมุ่งเน้นการเริ่มต้นจากการทำสิ่งที่มั่นคงและแข็งแกร่ง โดยค่อย ๆ พัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน เราเชื่อมั่นว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์ของเราใน GCL ทั้งหมด และเราพร้อมเดินหน้าไปด้วยกันจนประสบความสำเร็จในที่สุด” โคเบ ฉิน กล่าวทิ้งท้าย