เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท GCL System Integration (GCLSI) ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์ ในฐานะพาร์ทเนอร์ของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้มาร่วมแบ่งปันความสำเร็จของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคามหาวิทยาลัยโครงการใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่ง GCLSI รับหน้าที่เป็นผู้จัดหาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูง 12MW ให้แก่โครงการดังกล่าว
โครงการนี้พัฒนาโดยบริษัทบีซีพีจี ซึ่งเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ ด้วยการใช้บล็อกเชนบริหารการซื้อขายไฟฟ้า คุณอภิรักษ์ วรภมร ตัวแทนประจำภูมิภาค กล่าวว่า “GCLSI รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้” สำหรับโครงการดังกล่าว บีซีพีจีได้เลือกใช้โมดูลโมโนคริสตัลไลน์ประสิทธิภาพสูงรุ่น M672H ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ด้วยความเข้มรังสีและค่าสัมประสิทธิ์อุณหภูมิต่ำ ทั้งยังผ่านการทดสอบการทำงานในสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย โดยสามารถต้านทานหมอกเกลือ การกัดกร่อนของแอมโมเนีย และทรายที่พัดมากระทบ ซึ่งโมดูลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเช่นนี้จะทำให้ต้นทุนอุปกรณ์ประกอบระบบ (BOS) ลดลง โมดูลของ GCLSI ถูกนำไปติดตั้งบนอาคารกว่า 150 หลังในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ปีละกว่า 18,300 MWh และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละประมาณ 18,250 ตัน
โครงการนี้เป็นหนึ่งใน 34 โครงการที่ได้รับเลือกภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox: ERC Sandbox) ในปี 2562 ทั้งนี้ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ระบุว่า ปัจจุบัน พลังงานแสงอาทิตย์ราว 95% ของทั้งหมดทั่วประเทศ ผลิตจากโซลาร์ฟาร์มแบบติดตั้งบนพื้น ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคามากขึ้น คณะกรรมการปฏิรูปพลังงานจึงได้รับมอบหมายให้ทบทวนเงื่อนไขการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา และนำเสนอแผนที่ดีกว่าเดิมภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้ได้ปีละ 50MW ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
GCLSI ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานระหว่างประเทศที่สั่งสมประสบการณ์ด้านพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมานานกว่า 20 ปี จะจัดหาโซลูชันพลังงานที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้า เพื่อรองรับความต้องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา