GO GREEN ไปกับ BCG … Zero Waste Zero Emission


การลดก๊าซเรือนกระจกกำลังเป็นคลื่นลูกเก่าที่จะกลับถาโถมเข้าหาเศรษฐกิจไทยหลังไวรัส COVID-19 มาเยือน เรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจกดูเหมือนจะเป็นอาหารจานโปรดของนักวิชาการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในฐานะภาคเอกชนมีข้อสังเกตถึงกฎกติกาต่างๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีขั้นสูงในการลดก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นภาครัฐจึงควรก้าวตามแบบรักษาระยะห่าง มิฉะนั้นเราอาจกลายเป็นอาหารจานโปรดของผู้กำหนดกฎกติกาโลกก็เป็นได้ ประเทศไทยถ้าจะ Go Green กับ BCG จะต้องไม่ทิ้งภาคเกษตรและชุมชนไว้ข้างหลัง เนื่องจากเรื่องของความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) นั้นเข้าใจได้ว่า คือการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเพิ่มขึ้น เป็นทั้งธุรกิจใหม่ เป็นข้อกีดกันทางการค้า เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ หรืออาจเป็นสำนึกรับผิดชอบของทุกคนที่เกิดมาอาศัยในโลกใบเก่าๆ นี้

BCG : Bio Economy-Circular Economy-Green Economy อาจดูคล้ายกับพลาสเตอร์ยาปิดแผลให้กับโลกใบนี้ที่มนุษย์สร้างบาดแผลไว้ BCG ครอบคลุมแทบจะทุกกิจกรรมของมนุษย์ ในฉบับนี้ จึงขอเขียนถึงการใช้พลังงานทดแทนมาช่วยปรับสมดุลราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) จากภาคเกษตร อันเป็นจุดแข็งของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ขอเริ่มต้นด้วย กรมป่าไม้ หลังจากที่ไม่ต้องคอยจับไม้เถื่อน จึงมีเวลาพัฒนาพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท กรมป่าไม้ต้องรับผิดชอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 60.76 ล้านไร่และป่าถาวร 3.4 ล้านไร่ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวก็มีทั้งที่ยังมีสภาพเป็นป่า และอีกส่วนหนึ่งไม่ได้มีสภาพเป็นป่าแล้ว ดังนั้นกรมป่าไม้จึงมีแนวคิดที่จะนำพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เอกชนเช่าเพื่อปลูกป่าไม้เศรษฐกิจ และแบ่งปันผลประโยชน์ให้กรมป่าไม้ นอกจากรายได้จากการขายไม้และผลผลิตที่ได้จากป่าแล้ว ยังจะได้คาร์บอนเครดิตจากการปลูกและดูแลป่าด้วย ถึงแม้จะเป็นก้าวแรกของกรมป่าไม้ แต่เป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีหน้าที่อนุรักษ์ป่าชายเลน 1.73 ล้านไร่ ให้คงสภาพความอุดมสมบูรณ์ จึงมีโครงการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต และเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องมีแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการจึงต้องมีเครื่องมือทางการตลาด นั่นคือมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก

ป่าไม้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เชื้อเพลิงชีวภาพ (BioFuel) ประกอบด้วย เอทานอลและไบโอดีเซลประเทศไทยเคยมีนโยบายจะ Go Green กับเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่หลังจากสถานการณ์พลังงานโลกเปลี่ยนไป เชื้อเพลิงชีวภาพจึงกำลังจะกลายเป็นส่วนเกินของพลังงานทดแทน แต่หากรัฐจะมองให้ลึกลงกว่านี้แล้วจะพบว่าเกือบทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนใช้กลไกลของพลังงานมาปรับสมดุลราคาพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากมีเกษตรกรเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งมีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสมแก่การปลูกพืชตลอด 365 วัน

เอทานอล ผลิตจากมันสำปะหลังประมาณ 55% และจากกากน้ำตาล 45% ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ประเทศไทยปลูกอ้อยประมาณ 10 ล้านไร่ ผลผลิตประมาณ 49 ล้านตันต่อปี และปลูกมันสำปะหลัง 8-9 ล้านไร่ โดยปลูกในภาคอีสานถึง 60% ภาคตะวันออก 20% และภาคเหนือ 20%

ถึงแม้ว่าเอทานอลจะใช้วัตถุดิบจากอ้อยและมันสำปะหลังเพียงไม่ถึง 10% ก็ตาม แต่ก็มีผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่นี้มากมาย รวมทั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่สร้างเสร็จแต่เปิดดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐที่ชัดเจนว่าจะค่อยๆ ลดการส่งเสริมเอทานอลลง

ไบโอดีเซล วัตถุดิบหลักก็คือปาล์มน้ำมัน ซึ่งไทยปลูกไม่น้อยกว่า 6 ล้านไร่ หรือ 5% ของโลก และประมาณ 10% ของมาเลเซีย แต่ละปีจะมีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO : Crude Palm Oil) ประมาณ 3 ล้านตัน ส่งออกเพียง 10% ส่วนที่เหลือใช้บริโภคในประเทศ 50% และอีก 50% ใช้ผลิตไบโอดีเซล B100 ผสมในน้ำมันดีเซลในอัตรา 7-10% (B7 และ B10) ในส่วนของการทำน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ไปใช้เป็นอาหารคงไม่เป็นปัญหาอะไรมากนัก หลังจากที่ชี้แจงกันไปแล้วว่าน้ำมันปาล์มไม่มีไขมันทรานส์ (Trans Fat) แต่น้ำมันทรานส์ที่ว่าเกิดจากกระบวนการของอุตสาหกรรมที่นำน้ำมันไปผลิตอาหาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับน้ำมันพืชทุกชนิด ส่วนการนำ CPO : Crude Palm Oil มาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพยังมีปัญหาที่รอแก้ไขอีกมากมาย เช่น เครื่องยนต์ EURO 5 และ 6 มีมาตรฐานสูงกว่าที่จะใช้ Biodiesel และการผลิตน้ำมันดีเซลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงลงทุนมาก อาจจะเป็นการผูกขาดเพียงบริษัทเดียว

เชื้อเพลิงชีวภาพ (BioFuel) มีห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยานยนต์ไฟฟ้ากำลังจะมา และเครื่องยนต์สันดาปภายในกำลังจะไป

โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ได้มีการกำหนดให้ปลูกพืชพลังงานไม่น้อยกว่า 80% ของเชื้อเพลิงที่จะใช้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งได้เริ่มโครงการนำร่องไปแล้ว 150 เมกะวัตต์ อาจใช้พื้นที่ปลูกถึง 150,000 ไร่ หากมีการขยายโครงการตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) ออกไปอีก สมมุติว่ามีโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ ก็จะใช้พื้นที่ปลูกพืชเกือบ 1 ล้านไร่ ถ้าเปรียบเทียบกับพืชหลักอื่นๆ เช่น ปาล์ม มันสำปะหลัง และอ้อย ก็อาจจะมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น แต่น้องใหม่อย่างพืชพลังงานที่มาแรงในความรู้สึกอันเนื่องมาจากเป็นเรื่องใหม่ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมต่างๆ มากมาย เช่น การรวมพื้นที่ปลูกเป็นเกษตรแปลงใหญ่ นำระบบ AI เข้ามาใช้เพื่อให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ และที่สำคัญคาร์บอนเครดิตที่จะเกิดจากการปลูกพืชพลังงาน ใครจะเป็นเจ้าของกระทรวงพลังงาน หรือเจ้าของโรงไฟฟ้า หรือตามสำนวนไทยที่ว่า ไม่เห็น้ำ ตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอก ก่งหน้าไม้ ดังนั้นองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO : Thailand Greenhouse Gas Management Organization จึงควรรีบกำหนดราคาซื้อขายและกติกาต่างๆ ให้ชัดเจน เข้าใจง่าย หรือ TGO อาจต้องเขียนแผนธุรกิจ Business Canvas ของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อให้จูงใจภาคธุรกิจมากขึ้น

Net Zero Emission คือการก่อให้เกิดมลพิษจากกิจกรรมใดๆ หักลบกับการลดมลพิษลงแล้วเท่ากับ 0 สำหรับประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เรามักเรียกชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า TGO เป็นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ แต่เนื่องจากการคำนวณก๊าซเรือนกระจกนั้นมีความละเอียดอ่อน มีตัวแปรมากมาย เราจึงไม่เคยเห็นเอกสารแจ้งราคาซื้อขายคาร์บอน หรือปริมาณคาร์บอนจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การปลูกป่า การใช้พลังงานทดแทนว่าก่อให้เกิดคาร์บอนเครดิตกี่หน่วย กี่ตัน ราคาในตลาดควรเป็นเท่าไรในอนาคตระบบ AI อาจสามารถช่วยประมาณการปริมาณและราคาซื้อขายคาร์บอนจากแอปฯ บนโทรศัพท์มือถือของเรา ถึงแม้จะ Work From Home ก็ตาม


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 107 กันยายน-ตุลาคม 2564 คอลัมน์ บทความ โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save