กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ประจำปีงบประมาณ 2567 “ก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน..คู่ไปกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม..ด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยในเรื่องของภัยน้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งส่งผลเสียต่อผลผลิตในภาคเกษตรกรรม ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และทักษะคุณภาพแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการปฏิรูป 3 ด้าน ได้แก่ การปฏิรูปที่ 1) การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน 2) Save อุตสาหกรรมไทย และ 3) การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ โดยจะดำเนินการใน 3 แนวทาง คือ 1) การสร้างความร่วมมือ พันธมิตรห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ 2) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูประบบอุตสาหกรรม และ 3) การปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล สร้าง Ease of สร้าง Ease of Doing Business
การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวนับเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานให้บรรลุตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน ส่งเสริมและยกระดับสถานประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นไปตามเป้าหมายการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตามแนวคิด BCG (Bio -Circular – Green Economy) เพื่อการขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ที่ตอบโจทย์ประเทศไทยและประชาคมโลก มีความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กับการกระจายรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนแข่งขันได้ในระดับสากล
ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักให้บุคลากรในทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เผยแพร่องค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีและแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแก่สถานประกอบการผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งการสร้างและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ ผู้ตรวจประเมิน และการให้บริการช่วยเหลือแก่สถานประกอบการให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือแนวโน้มการค้าโลก รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการใหม่ และสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบการ
สำหรับพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 โดยปีนี้ได้มอบรางวัลให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 และระดับที่ 5 ในปี พ.ศ. 2566-2567 จำนวน 325 ราย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) จำนวน 36 ราย และอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 289 ราย เพื่อเพิ่มโอกาสและส่งเสริมสถานประกอบการในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยในการประกอบกิจการ มีความรับผิดชอบต่อสังคม นำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม สังคม และชุมชนที่อยู่โดยรอบอย่างยั่งยืน
อุตสาหกรรมที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) อาทิ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จากโรงงานทั้ง 13 แห่ง และรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) อาทิ บริษัท ปูนซีเมนต์ ประเทศไทย , บริษัท แคนนอน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยสิทธิประโยชน์สำหรับโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป จะสามารถใช้โลโก้ GI บนผลิตภัณฑ์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับโอกาสทางการตลาด ตลอดจนการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2567) มีสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวจำนวน 57,663 ใบรับรอง แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่
1)ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) จำนวน 50,591 ใบรับรอง
2)ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) จำนวน 3,112 ใบรับรอง
3)ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) จำนวน 3,455 ใบรับรอง
4)ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 429 ใบรับรอง
5)ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) จำนวน 76 ใบรับรอง