“Hitachi Energy (Thailand) Limited” ชู 4 ธุรกิจหลัก ขับเคลื่อนพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน


ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เฉกเช่นเดียวกับบริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งภายหลังจากการทรานฟอร์มธุรกิจจากบริษัท เอบีบีเพาเวอร์ กริดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นชื่อใหม่ ได้มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจและนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในองค์กร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจด้านพลังงานมีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม

ดร.วรวุฒิ วรุตตมพรสุ

ดร.วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากบริษัท เอบีบี เพาเวอร์ กริดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 และใช้ชื่อนี้ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าอย่างครบวงจรจนถึงปัจจุบัน โดยรับผิดชอบดูแลลูกค้าใน 4 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย ลาว พม่าและกัมพูชา สำหรับในประเทศไทย บริษัทฯ มีพนักงานประมาณ 450 คน มีสำนักงานดูแลลูกค้าในประเทศไทย 3 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ และมีศูนย์บริการเซอร์วิสเซ็นเตอร์ที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง นอกจากนี้ยังมีสำนักงานที่ประเทศพม่าอีก 1 แห่ง

บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

“บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนอนาคตของพลังงานที่ยั่งยืน สำหรับทุกคน ซึ่งบริษัทฯมีความพร้อม มีแผนการดำเนินธุรกิจ และการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาเป็นเครื่องการันตีการทำงานสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ ไม่ว่าจะทางด้าน Digital Transformation ถือว่าบริษัทฯ เป็นผู้นำ Carbon Neutrality ต่างๆ ในการสนับสนุนลูกค้าให้บรรลุในเรื่องของคาร์บอนที่เป็นกลาง” ดร.วรวุฒิ กล่าว

บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมนำเทคโนโลยีทันสมัย ตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ดร. วรวุฒิ กล่าวว่า ภายหลังจากการทรานส์ฟอร์มแล้ว บริษัทฯ ยังคงดำเนินการดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มไฟฟ้าทั้ง 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และอื่นๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นลูกค้า Oil & Gas ปิโตรเคมี กลุ่มก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรม ประเภทอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ กลุ่มรถไฟฟ้า กลุ่มยานยนต์ รวมทั้งมองหาลูกค้าใหม่ๆ และโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ในส่วนของการใช้เทคโนโลยีให้ทันสมัยตามความต้องการของลูกค้าและธุรกิจของลูกค้า ทางบริษัทฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแม่ที่ต่างประเทศเข้ามาใช้งานในหลายส่วนของธุรกิจ เพื่อให้การบริการสำหรับลูกค้ามีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการให้มากที่สุด โดยคำนึงถึงการลดใช้คาร์บอน ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน ในสัดส่วน 50:50

4 ธุรกิจหลักเติมเต็มกันและกัน พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้ได้ตามเป้าหมาย

บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจของบริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด แบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจหลักประกอบด้วย 1.Grid Automation 2.Grid Integration 3.High Voltage Products และ 4.Transformers ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าหม้อแปลงแรงสูง ธุรกิจสำหรับสร้างสถานีไฟฟ้า การควบคุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่น้อย พอร์ตโฟลิโอ EconiQ™ เป็นพอร์ตโฟลิโอที่มี ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถลดการเกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ตลอดวงจรชีวิตทั้งหมด ได้ อย่างมีนัยสำคัญ มีการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีคุณภาพ มีการควบคุมแบบเรียลไทม์ และมีข้อมูลมหาศาลจัดเก็บไว้ใน Big Data เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ดูว่าอุปกรณ์ต่างๆ ใช้งานได้ในระดับไหน แล้วนำข้อมูลมาประมวลผลตามที่ลูกค้าต้องการใช้งาน เพื่อที่จะได้จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ยกตัวอย่าง เช่น หน่วยงานการไฟฟ้าอาจจะต้องการทราบว่าอุปกรณ์นั้นๆ ที่นำไปติดตั้งจะต้องทำการซ่อมบำรุงเมื่อใด หรืออุปกรณ์จะเสียเมื่อใด เพื่อจะได้วางแผนการดำเนินงานได้ตรงตามเวลาได้มากขึ้น ซึ่งการวางแผนในลักษณะที่มีประสิทธิภาพดีกว่า การวางแผนแบบไม่ทราบข้อมูลอะไรเลย แล้วก็รอให้ถึงเวลา ซึ่งการรอให้ถึงเวลานั้น อุปกรณ์ต่างๆ ก็อาจจะเสียได้ เพราะฉะนั้นการจัดระบบต่างๆนี้จะส่งผลดีให้กับทางลูกค้าซึ่งเขาสามารถวางแผนในการจัดการเรื่องต่างๆ และถ้ายิ่งมีการจัดการวางแผนได้ล่วงหน้า ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถ้ามองในแง่ของภาพรวมก็คือ การจัดการที่ดีขึ้นจะนำพาไปสู่การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ได้อีกทางหนึ่งด้วย” ดร.วรวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ การทำธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มต่างเป็นธุรกิจที่เติมเต็มกันและกันเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามเป้าประสงค์และให้บริการลูกค้าอย่างดีที่สุด เนื่องจากความต้องการใช้งานของลูกค้าแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ทางบริษัทฯ จะแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของลูกค้ามีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น เรื่อง ความต้องการ KPI ในการลดค่าไฟฟ้า หรือทำให้ Carbon Footprint ลดลง เป็นต้น

สถานีไฟฟ้าแรงสูงพัทยาใต้ 3 ถือเป็น Digital Substation แห่งแรกของ กฟภ.

ดร. วรวุฒิ กล่าวว่า บริษัทฯ มีคู่ค้าพาร์ทเนอร์ในกลุ่มใหญ่อยู่บ้างที่เคยร่วมทำธุรกิจกัน นอกจากนี้บริษัทฯ ใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ดำเนินการทำ Solar Rooftop ติดตั้งในโรงงานของบริษัทฯเอง เพื่อที่จะได้นำเสนอลูกค้าหากเข้าไปเยี่ยมชมในโรงงานให้เห็นถึงโซลูชั่นการจัดการพลังงาน Solar Rooftop ของจริงในการติดตั้งในโรงงาน และล่าสุดบริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ในการดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงพัทยาใต้ 3 ซึ่งเป็นสถานีไฟฟ้า Gas Insulated Switchgear (GIS) แบบ Double Bus Single Breaker ที่มีนวัตกรรมดิจิทัล ประกอบด้วยระบบตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ สำหรับสวิตช์เกียร์แรงสูง หม้อแปลงไฟฟ้า กับดักเสิร์จ สวิตช์เกียร์แรงดันปานกลาง และดิจิทัลแพลตฟอร์มที่รวมองค์ประกอบระหว่างระบบการบริหารจัดการสินทรัพย์และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าด้วยกัน ทำให้โครงการดังกล่าว ถือเป็นสถานี Digital Substation ของบริษัทฯ และแห่งแรกของ กฟภ. ที่มีระบบนวัตกรรมดิจิทัล

บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

คาดอนาคตอันใกล้นี้ความต้องการใช้ไฟเพิ่มมากกว่า 2 เท่า

สำหรับภาพรวมความต้องการของผู้บริโภคทั้งในเมืองไทยและในระดับโลกนั้น บริษัทฯ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น เห็นการผลิตไฟฟ้า การจัดการไฟฟ้า และขณะนี้เริ่มเห็นเทรนด์ใหม่ๆ เช่น มีกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ หรือแม้แต่ครัวเรือนในบ้านแต่ละหลัง ที่สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ นอกจากนี้ที่ผ่านมาเราอาจจะได้ยินคำว่า Prosumer ซึ่งเปลี่ยนจาก Consumer ผู้บริโภค คือเป็นทั้ง Consumer ผู้บริโภค และเป็นทั้ง Producer ผู้ผลิต ณ เวลาเดียวกัน ถ้ามองในภาพรวมก็คือว่า จะมีการสร้าง พัฒนาให้เกิดและใช้พลังงานมากขึ้น ซึ่งแม้แต่ทางภาครัฐประเทศไทยได้มีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเข้าไป โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าไปในส่วนผสมของการผลิตพลังงานภายในประเทศ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นภาพรวมที่เห็นได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่นเดียวกัน

“เพราะฉะนั้นจุดนี้อาจจะเป็นจุดแรกที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงต่อมาคือจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบไฟฟ้าต่างๆ มากขึ้น เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะการขนส่งต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งรอบตัวเรา เช่น เรื่อง PM2.5 มลพิษทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ประชาชนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น และตอนนี้เริ่มมีเทรนด์ การจัดการระบบการขนส่งทั้งระบบที่ดูแลสิ่งแวดล้อมเข้ามามากขึ้น ทั้งนี้จึงมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากกว่า 2 เท่า ซึ่งต้องหาทางปรับการใช้พลังงานไฟฟ้าไปเป็นพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม”

นอกจากนี้ เทรนด์การใช้ไฮโดรเจนจะมีเข้ามามากขึ้นในอนาคต แม้จะมีราคาต้นทุนที่สูงก็ตาม แต่เป็นทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยมีแผนการนำไฮโดรเจนมาใช้ในอนาคต เนื่องจากในขณะนี้ราคาต้นทุนค่อนข้างสูง จึงยังต้องศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีที่จะรองรับอีกมาก และต้องทำนโยบายที่มีอยู่ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ภาครัฐวางไว้

มั่นใจสิ่งที่รัฐประกาศในการประชุม COP26 สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ

ที่สำคัญเราเพิ่งผ่านการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (United Nations) หรือ COP26 ที่ประชุมที่เมืองกลาสโก ประเทศสกอตแลนด์ ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศและประชาคมโลกให้ความสำคัญในเรื่องสภาพภูมิอากาศ ลดก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) โดยการประชุมมีเป้าหมายในการลดอุณหภูมิ ไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งแต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุมจะมีแผนการจัดการ รวมทั้งประเทศไทยที่เข้าร่วมก็ต้องดำเนินนโยบายด้วยเช่นเดียวกัน

“ผมมองว่าคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทย ให้ไว้ในการประชุม COP26 ที่ว่าจะต้องให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี พ.ศ.2608 ซึ่งในการประชุม COP26 ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศในอาเซียนที่ได้มีการทำข้อตกลงเอาไว้ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องมีแผนการสอดคล้องกับข้อตกลงที่ทำไว้และจัดทำนโยบายรองรับ เช่น เรื่องพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) Transportation และ EV ซึ่งส่วนนี้จะช่วยสนับสนุนและเป็นตัวขับเคลื่อนด้านพลังงานที่ดูแลสิ่งแวดล้อมตามวัตถุประสงค์ในการประชุม COP26” ดร.วรวุฒิ กล่าว

ในส่วนของบริษัทฯ มุ่งเน้นความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่ต้องการที่จะขับเคลื่อนในเรื่องพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พาร์ทเนอร์และอื่นๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลประกาศออกมาในการประชุม COP26 นั้นก็ตรงกับการดำเนินนโยบายที่บริษัทฯ ที่มีอยู่แล้ว

ภาพรวมพลังงานในไทยสอดรับกับนโยบายจากกระทรวงพลังงาน

ดร.วรวุฒิ กล่าวว่า ภาพรวมของพลังงานในประเทศไทยจะสอดรับไปกับนโยบายจากกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. Renewable Energy พลังงานหมุนเวียน ที่ใกล้ตัวที่สุด คือ Solar ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้ง Solar Rooftop ซึ่งตรงนี้ใกล้ตัวมาก เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนจัดทำเรื่อง Solar Floating ซึ่งทำเสร็จไปแล้ว 1 แห่ง ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งพลังงานอื่นๆ เช่นพลังงานลม ที่อยู่ในแผน PPP ของประเทศไทย โดยภาครัฐมีเป้าหมายว่าในปี พ.ศ. 2593 จะต้องมีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 30% 2.Transportation ระบบการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะเรื่อง PM 2.5 ที่เป็นประเด็นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงดำเนินการสนับสนุนการใช้ EVของประเทศซึ่งจะเป็นการใช้ EVส่วนบุคคลรวมทั้งในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่กำลังดำเนินการเรื่องของ E- BUS ด้วย เป็นต้น 3. Smart Grid หรือจะเรียกรวมเป็น Grid Modernization เป็นการนำเทคโนโลยี Smart Grid เข้ามาสนับสนุนในเรื่องของโครงข่ายการไฟฟ้า Smart Grid อาจจะเป็นภาพรวมที่กว้าง ไม่ว่าจะเป็น Microgrid ซึ่งเป็นการผนวกรวมของ Renewable Energy, Battery, Energy Storage ต่างๆ เข้ามา การใช้ Smart Grid เข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการไฟฟ้าจะช่วยประหยัดเงินลงทุน หรือการบริหารการลงทุนให้ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และ 4.ไฮโดรเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไกลตัวมากสำหรับการนำไฮโดรเจนมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งตามแผนการดำเนินนโยบายของประเทศแล้วคาดว่าอีกประมาณ 5-10 ปีข้างหน้าจะมีการนำไฮโดรเจนมาใช้ในประเทศ

โซลูชัน Grid-eMotion Fleet และ Grid e-Motion Flash ตอบโจทย์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย

สำหรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ประเทศไทยได้มีการวางเป้าหมายในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% และ ออกมาตรการภาษีรองรับ ตามด้วยตามนโยบายภาครัฐที่กำหนดราคาให้เหมาะสมเพื่อเป็นแรงจูงใจในการส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้ EV แทนยานยนต์เชื้อเพลิงมากขึ้น ดังนั้นเทรนด์การผลิตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตจะมาแน่นอนทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆในระดับโลก ซึ่งแต่ละประเทศจะเร่งสร้างให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลิตออกมาใช้งานแทนยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันที่ก่อให้เกิดมลพิษ รวมทั้งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง PM 2.5 ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า EV เช่น โซลูชันที่เรียกว่า Grid-eMotionTM Fleet และ Grid-eMotionTM Flash สำหรับระบบการขนส่ง บริษัทฯ มีระบบสมาร์ทชาร์จตัวยานยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้า (Bus EV) เป็นต้น สำหรับการใช้งานในประเทศไทยนั้น ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพูดคุยเจรจาด้านธุรกิจกับลูกค้าประมาณ 2-3 บริษัท มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนในต่างประเทศ เชื่อว่าเทรนด์การใช้งานมาอย่างแน่นอน ทั้งในประเทศจีน ยุโรปต่างออกนโยบายรองรับการใช้ EV มีทั้งการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าทุกรูปแบบ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save