ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าหัวใจสำคัญของระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต ปลดล็อคไทยบรรลุเป้าหมายพลังงานที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ปัจจุบันประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งมีข้อจำกัดในการผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ ระบบกักเก็บพลังงานจึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเก็บพลังงานส่วนเกินในช่วงที่มีการผลิตมาก หรือ (Peak Load) และนำมาใช้ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรและมั่นคง และช่วยให้การบริหารจัดการระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของไฟฟ้าดับ และรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนพลังงาน โดยเฉพาะในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ภัยธรรมชาติ ตลอดจนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และพัฒนาเทคโนโลยี และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและการพัฒนาสังคมโดยรวม ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบกักเก็บพลังงานในระบบไฟฟ้าถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศไทยอย่างแท้จริง

สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) จึงได้ร่วมกับสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน จัดเสวนาหัวข้อเรื่อง ระบบกักเก็บพลังงานในระบบไฟฟ้า : แนวโน้มเทคโนโลยี โอกาส และการใช้ประโยชน์  (Energy Storage in Power System : Technology Trend , Opportunities and Applications) โดยวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ร่วมเสวนาบนเวที เพื่อถ่ายทอดความรู้ นำเสนอเทคโนโลยี และแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน ภาพรวมประโยชน์ การใช้งาน สถานการณ์การใช้งานปัจจุบันของระบบกักเก็บพลังงานในระบบไฟฟ้า และ กลไกสำคัญ ปัญหา อุปสรรค โอกาสและการใช้ประโยชน์จากระบบกักเก็บพลังงานในระบบไฟฟ้า ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2567  ณ ห้อง Auditorium อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย กรุงเทพฯ

ดร.ธัญญา  แพรวพิพัฒน์

ดร.ธัญญา  แพรวพิพัฒน์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สวทช. และ TESTA เปิดเผยว่า แบตเตอรี่ที่ใช้งานในระบบกักเก็บพลังงานในปัจจุบันมีหลากหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sodiam Sulfer Batteries แบตเตอรี่ที่มีขั้วลบเป็นโซเดียม ขั้วบวกเป็นซัลเฟอร์ และสามารถเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลวได้ ส่งผลให้แบตเตอรี่ชนิดนี้ทำงานได้ที่อุณหภูมิ 300 องศาเซลเซียส จึงทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้มี Cycer life ที่ค่อนข้างยาวนาน รวมถึงอายุของวัสดุภายในแบตเตอรี่ที่มีราคาถูก  , Redox Flow Batteries แบตเตอรี่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 2-3 หมื่นรอบ ไม่ทำให้แบตเตอรี่มีการคายประจุส่วนตัวเอง และสามารถที่จะจ่ายพลังงานได้ถึง 10 ชั่วโมง และ Lithium Ion Batteries ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่ได้รับการใช้งานเป็นหลักในระบบกักเก็บพลังงาน

นอกจากแบตเตอรี่ดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังมีแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่กำลังเข้ามาในตลาด ก็คือ Sodiam Ion Batteries ซึ่งเป็นน้องของ Lithium Ion Batteries เนื่องจากมีพฤติกรรมการใช้งานที่คล้ายคลึงกัน แม้ว่าจะมีกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันก็ตาม Sodiam Ion Batteries มีพลังงานอยู่ประมาณ 140-150 Wh/Kg  ทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้ได้รับการทดลองโดยนำไปใช้งานในรถยนต์ขนาดเล็กที่วิ่งในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก   ถือเป็นแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่ภายใน 1-2 ปีนี้อาจจะเห็นว่าเป็นคอมเมอร์เชียลเพื่อนำไปใช้งานมากยิ่งขึ้น

ดร.จิราวรรณ  มงคลธนทรรศ

ดร.จิราวรรณ  มงคลธนทรรศ  นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สวทช. กล่าวถึงภาพรวมประโยชน์ การใช้งาน สถานการณ์การใช้งานปัจจุบันของระบบกักเก็บพลังงานในระบบไฟฟ้าว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบกักเก็บพลังงานในประเทศนั่นก็คือปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยมีภาคพลังงานที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด เราจึงมีเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ในปี 2050 และแผน PDP ฉบับใหม่ในปีนี้ เพื่อเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 ระบบกักเก็บพลังงานจึงมีส่วนช่วยให้เป้าหมายดังกล่าวสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับระบบกักเก็บพลังงานเป็นระบบที่สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้กลายเป็นพลังงานในรูปแบบหนึ่งเพื่อกักเก็บไว้ใช้งานในเวลาอื่นๆ เมื่อจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าระบบกักเก็บพลังงานจะแปลงพลังงานที่กักเก็บไว้กลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าอีกครั้ง เพื่อจ่ายคืนสู่ระบบ โดยพลังงานที่กักเก็บไว้จะมีรูปแบบต่างๆ เช่น พลังงานศักย์ พลังการกล พลังงานจล หรือกักเก็บในรูปแบบพลังงานไฟฟ้าเคมี ระบบกักเก็บพลังงานจึงถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ในระบบไฟฟ้า เนื่องจากสามารถเป็นทั้งผู้ใช้และผู้สร้างได้ในตัวเดียวกัน ด้วยการย้ายพลังงานจากที่หนึ่งไปเก็บไว้ในอีกที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเชิงพื้นที่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และการย้ายเชิงเวลา โดยเก็บในเวลาหนึ่งแล้วนำไปใช้ในอีกช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นระบบกักเก็บพลังงานจึงนิยมนำมาใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าหรือใช้เพื่อการย้าย ทั้งนี้ ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าสามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้งานเพื่อชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ชะลอการเพิ่มขนาดสายส่ง และช่วยรองรับปริมาณของ Renewable power system ในระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ รวมถึงสร้างเสถียรภาพทางการจ่ายไฟฟ้า ทั้งด้านปริมาณและด้านคุณภาพ และยังช่วยประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย

ดร.จิราวรรณ  กล่าวว่า ตลาดการใช้งานของระบบกักเก็บพลังงานสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม Utility scale สำหรับโรงไฟฟ้าหรือการไฟฟ้าขนาดใหญ่ , กลุ่ม Behind the meter ผู้ใช้ไฟตามบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และ กลุ่ม Microgrid  ซึ่งระบบกักเก็บพลังงานสามารถติดตั้งได้ทุกส่วนของระบบไฟฟ้า ตั้งแต่การสร้างจนถึงระบบของการผลิต อย่างไรก็ตาม ระบบกักเก็บพลังงานถือว่ามีโอกาสที่จะเติบโตได้ในประเทศไทย แต่เราทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายระเบียบข้อบังคับ และการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้า (GridCode)  เพื่อให้ระบบกักเก็บพลังงานสามารถเติบโตและนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

เกษียร สุขีโมกข์

นอกจากนี้ ในการเสวนาหัวข้อ “ตัวอย่าง กลไกสำคัญ ปัญหา อุปสรรค โอกาสและการใช้ประโยชน์จากระบบกักเก็บพลังงานในระบบไฟฟ้า” เกษียร สุขีโมกข์ กรรมการผู้จัดการ PEC Technology Thailand Co.,Ltd. กล่าวถึงอุปสรรคของระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าว่า ราคาของแบตเตอรี่ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีราคาแพง และยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ทำให้ระบบกักเก็บพลังงานใช้งานได้อย่างจำกัด เราจึงจำเป็นต้องใช้งานอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เช่น ช่วงเวลาที่มีพลังงานสูง เราจะใช้ลิเธียมแบตเตอรี่ เพื่อบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จรินทร์ หาลาภี

จรินทร์ หาลาภี วิศวกรไฟฟ้า 9 ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมระบบไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันเราได้ประยุกต์ใช้ระบบกักเก็บพลังงานในโครงข่ายไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง โดยแบ่งเป็น 4 โครงการหลัก ได้แก่ 1.การนำระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ขนาด 300 kW/860 kWh มาใช้ในระบบ Microgrid ที่การไฟฟ้านครหลวง เขตราษฎร์บูรณะ 2.การนำระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ขนาด 1 MW/2.236 MWh มาติดตั้งที่สถานีไฟฟ้าย่อยปทุมวัน ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ 3.การนำระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ขนาด 500 kW/1 MWh มาใช้ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าด้วยโซล่าเซลล์ขนาด 500 kWp เพื่อทำ Net Zero Energy Building ที่ ฝ่ายธุรกิจขนส่งและผลิตภัณฑ์ การไฟฟ้านครหลวง (ที่ทำการบางพูด) และ 4.การนำร่องทดลองติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ขนาด 40 kW/103 kWh เพื่อแก้ปัญหา Voltage Regulation ในหมู่บ้านจัดสรรที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยโซล่าเซลล์บนหลังคา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

รศ.ดร.กีรติ ชยะกุลคีรี

รศ.ดร.กีรติ ชยะกุลคีรี หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า เรามี usecase ร่วมกับ GPSC VSPP และ SCG ในการติดตั้ง Solar Floating และติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานที่หอพักนักศึกษา รวมถึง Solar Rooftop ที่อยู่ตามอาคารต่างๆ ในมหาวิทยาลัย และการออกแบบการติดตั้ง ESS ที่สุรนิเวศ 5 โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำการ Zero import Energy ในช่วงเวลาที่ PV ไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ในช่วง 18:00-22:00 ที่สามารถทำ Zero import Energy ได้ถึง 98% ขนาด 100 kW/200 kWh

ลักษณะปริชา ครุฑขุนทด

ลักษณะปริชา ครุฑขุนทด ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการพาณิชย์ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด กล่าวว่า บริษัทนูออโวพลัส เป็นบริษัทที่ร่วมกันระหว่างกลุ่มปตท. ที่ดูแลเรื่อง EV และ GPSC ที่เป็น flagship ด้านไฟฟ้า เราจึงมีหน้าที่เป็นผู้จัดหาโซลูชันให้แก่ลูกค้า ตั้งแต่การเก็บ Reqirement การออกแบบแบตเตอรี่โซลูชันให้เหมาะสม จัดหาอุปกรณ์ติดตั้ง รวมถึงการบริการหลังการขาย โดยโครงการทั้งหมดที่เราทำสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าได้ทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีความต้องการผลักดันนโยบายกรีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานสะอาดมากที่สุด 2.กลุ่มที่เน้นเรื่อง economics เป็นหลัก และ 3.กลุ่มที่นำแบตเตอรี่ลิเธียมมาใช้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเน้นในเรื่องของความคุ้มค่าเป็นหลัก


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save