โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม : คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหามลพิษ ?


ขยะอุตสาหกรรมกว่า 17 ล้านตันต่อปี จากโรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม หลากหลายประเภทกว่า 72,000 โรงงานทั่วประเทศ กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้บริหารจัดการด้วย Platform ระบบ IT มาช้านานแล้ว มีการแบ่งผู้เกี่ยวข้องในระบบออกเป็น 3 กลุ่มอย่างชัดเจน ได้แก่ 1. โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) 2. ผู้ขนส่งของเสียอันตราย (Waste Transporter) 3. โรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิล (Waste Processor) รวมทั้งบริษัทที่รวบรวม นำเข้า และส่งออกของเสียอีกด้วย โดยมี 3 หน่วยงานหลักในกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่กำกับดูแล (Waste Regulator) กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้นิยามของเสียได้อย่างเข้าใจง่าย ดังนี้

สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

สิ่งของที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงของเสียจากวัตถุดิบของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของเสียที่เป็นผลิตภัณฑ์เสื่อมคุณภาพและน้ำทิ้งที่มีองค์ประกอบหรือมีคุณลักษณะที่เป็นอันตราย

ของเสียอันตราย

สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตราย หรือมีคุณสมบัติที่เป็นอันตรายตามที่กำหนดในภาคผนวกที่ 2 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2548

การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

การบำบัด ทำลายฤทธิ์ ทิ้ง กำจัด จำหน่ายจ่ายแจก แลกเปลี่ยน หรือนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกักเก็บไว้เพื่อทำการดังกล่าว

ท่านที่ประกอบกิจการโรงงานจะทราบดีว่า ขยะอุตสาหกรรมทั่วประเทศมีกฎระเบียบที่เข้มข้น พันธนาการไว้นับจากวันแรกที่วัตถุดิบเหล่านั้นได้กลายเป็นขยะตามนิยามข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตนำของเสียออก การขออนุญาตจัดการของเสียภายในโรงงาน หรือการขออนุญาตเก็บของเสียไว้ในโรงงานเกิน 90 วัน และการส่งรายงานการนำของเสียออกนอกโรงงานทุกๆ ปี หากจะกำจัดขยะของตัวเองภายในโรงงานก็ยังต้องขอความเห็นชอบ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกปรับถึง 200,000 บาท ดังนั้นภายในรั้วโรงงานจึงอาจเปรียบเหมือนเรือนจำของขยะอุตสาหกรรมดีๆ นี่เอง

จุดอ่อนของขยะอุตสาหกรรมก็คือ เมื่อขยะในโรงงานได้รับอนุญาตให้นำออกนอกโรงงานเพื่อส่งไปกำจัดโดยผู้ขนส่งที่ได้รับใบอนุญาตไปยังผู้รับกำจัด/บำบัด ซึ่งไม่มีข้อกำหนดว่าขยะจะต้องกำจัดในพื้นที่ใด ดังนั้นขยะจากจังหวัดเชียงรายอาจถูกส่งไปกำจัดที่จังหวัดนราธิวาสก็เป็นได้ ขยะจำนวนมากในภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ขยะก็มากเป็นเงาตามตัว จึงเดินทางไกลเพื่อไปกำจัดยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดราชบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น เมื่อเดินทางไกลมากจึงทำให้มีขยะบางส่วนเล็ดลอดระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะอันตรายที่มีราคาค่ากำจัดสูง ตามที่เราได้ยินข่าวอยู่บ่อยครั้งว่า มีสารเคมีถูกทิ้งในที่รกร้างและก่อมลพิษตลอดมา

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ส่งเสริมให้มีการนำขยะอุตสาหกรรมที่เผาไหม้ได้ประมาณร้อยละ 20 ของขยะอุตสาหกรรมทั้งหมด หรือประมาณ 4-5 ล้านตันต่อปี คัดแยกมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า สร้างพลังงานทดแทน โดยจัดเป็นพื้นที่ (Zoning) ทั้งโรงไฟฟ้าและขยะตามข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดังต่อไปนี้

ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมรายภาค

แบ่งตามศักยภาพเชื้อเพลิงได้โดยกำหนดกรอบการรับซื้อสูงสุด ดังนี้

นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ใจดีอย่างกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ยังให้โรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมได้ขายไฟฟ้าแบบพรีเมียมสูงที่สุด สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยคาดหวังว่าผู้ประกอบการจะมีการคัดแยกขยะมาใช้ประโยชน์อย่างสูงที่สุด ไม่นำขยะส่งไปกำจัดในพื้นที่ห่างไกล ใช้เทคโนโลยีที่สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอด Supply Chain ดังอัตราส่งเสริมต่อไปนี้

อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT

กพช. มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) อ้างอิงตามอัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ตามมติ กพช. เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2558

อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT

นอกเหนือจากใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) สำหรับโรงงานประเภทที่ 3 (ซึ่งเป็นโรงงานที่ต้องได้รับการอนุญาตก่อน จึงจะสามารถเปิดดำเนินการได้) กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้แบ่งประเภทโรงงานต่างๆ ตามประเภทอุตสาหกรรมและกิจการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่น่ารู้ ประกอบด้วย

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีความพยายามอย่างสูงที่สุดที่จะจัดการกับขยะอุตสาหกรรมให้ปลอดภัยจากมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชุมชนรอบโรงงานและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น EEC (East Economic Corridor) โดยได้รับความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงพลังงาน และผู้ประกอบการ “โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม” อาจเป็นเพียงหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดมลพิษและสามารถผลิตพลังงานทดแทนที่เป็นการนำของเสียมาใช้ประโยชน์อย่างสูงที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจในยุค BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ปัจจัยหลักในการแก้ไขปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่แท้จริงก็คือ จิตสำนึกของผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิตขยะ ผู้กำจัดขยะ และผู้ประกอบการทุกท่าน


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 113 กันยายน-ตุลาคม 2565 คอลัมน์ บทความ โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save