รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัด เร่งรัดดำเนินการให้สอดคล้องกับภารกิจและบริบทของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน และสิทธิประโยชน์ ตลอดจนกองทุนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาภายใต้กิจกรรม สมอ.สัญจร ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน พร้อมไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยถือเป็นวาระแห่งชาติที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการและตนได้มอบเป็นนโยบายสำคัญให้หน่วยงานในสังกัดเร่งรัดดำเนินการให้สอดคล้องกับภารกิจและบริบทของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน และสิทธิประโยชน์ ตลอดจนกองทุนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ “มาตรฐาน” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันทางการค้าในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานสินค้าชุมชน มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการลดโลกร้อน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับกฎกติกาใหม่ของการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคชุมชนฐานราก ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน พร้อมๆ ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วน
นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานชุมชนไปแล้ว จำนวน 1,432 มาตรฐาน และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 829 มาตรฐาน ซึ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 778 มาตรฐาน และมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) เป็นมาตรฐานระบบการจัดการในองค์กรอีกจำนวน 47 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรฐานแนวทางการหาปริมาณคาร์บอนฟุตพริ๊นท์ มาตรฐานแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) จำนวน 4 มาตรฐาน
สำหรับในปี 2567 สมอ. เตรียมประกาศใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เพิ่มอีก 96 มาตรฐาน ซึ่งจะดำเนินการกำหนดมาตรฐานควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมนำมาตรฐานไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนาองค์กรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีหลักการที่สำคัญคือ ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการผลิตของเสียให้น้อยที่สุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งนี้ ได้เริ่มนำร่องในกิจกรรม สมอ. สัญจร ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีตและซีเมนต์ รวมทั้งผู้ผลิตชุมชน ในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) การใช้ปูนซิเมนต์ไฮโดรลิคแทนปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตชุมชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้พัฒนาในกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกันต่อไป
นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ด้านการมาตรฐานแก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการมาตรฐาน ตระหนักถึงความสำคัญ สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน และเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สมอ. จะเดินสายให้ความรู้ผู้ประกอบการ ร้านจำหน่าย ผู้ผลิตชุมชน และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถติดตามข่าวสารด้านการมาตรฐาน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ www.tisi.go.th หรือ http://www.facebook.com/tisiofficial หรือ โทร. 0 2430 6833 ต่อ 2310 นายวันชัยฯ กล่าว
ที่มา: กระทรวงอุตสาหกรรม