“KITCARBON” แพลตฟอร์มประมวลผลการปล่อย CO2 สำหรับโครงการก่อสร้างรายแรกในไทย ที่มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีและเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมมือภาครัฐ ผู้ออกแบบ ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและสถาบันวิจัย แชร์ความรู้ในหัวข้อ “Data-Driven Toward Net Zero” ดึงตัวช่วยสุดล้ำบนแพลตฟอร์ม KITCARBON ชูแนวคิด ‘คิด ก่อน สร้าง’ พร้อมผนึก TGO เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ Net Zero ด้วย Green Data เชื่อมต่อทุกภาคส่วนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภายในงาน “KITCARBON Inclusive Green Growth Talks : Sustainability as a possibility, Data-Driven Toward Net Zero” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
โดย นายสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน กล่าวเปิดงานพร้อมเผยว่า SCG ในฐานะผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง นอกจากเรื่องที่เราส่งมอบ Green Products เรายังใช้เทคโนโลยี Digital เพื่อให้ทุกการก่อสร้างของลูกค้าของเราเป็นอาคารคาร์บอนต่ำผ่านแพลตฟอร์ม KITCARBON ที่จะช่วยประเมินคาร์บอนในโครงการก่อสร้างก่อนก่อสร้างจริง ซึ่งได้รับการสนับสนุนข้อมูลฉลากคาร์บอนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) นับเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะสามารถทำให้แพลตฟอร์ม KITCARBON มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย ซึ่งสอดคล้องกับ NET ZERO Roadmap ของประเทศไทย เช่นกัน
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ร่วมแชร์ความรู้ในหัวข้อ “Sustainability as a possibility” ถึงทิศทางภาคธุรกิจไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างยั่งยืน พร้อมเผยถึงกลไกที่เป็น Carbon Pricing ในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกนิยมใช้หลักๆ คือ Emission Trading Scheme (ETS) และภาษีคาร์บอน ซึ่งนับว่าเป็นสองวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อการใช้เทคโนโลยีที่สะอาดในประเทศได้
ทั้งนี้ช่วงเสวนาในหัวข้อ “Inclusive Green Growth Talks: Data-Driven Toward Net Zero” ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ โดย นายนพพร กีรติบรรหาร Chief Marketing Officer บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เผยว่า การลดคาร์บอนเครดิตนั้นต้องคำนึงถึงทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) Green Process เน้นการลดคาร์บอนตั้งแต่กระบวนการผลิต ลดการใช้พลังงานถ่านหิน แล้วหันมาใช้เชื้อเพลิงทดแทน รวมถึงลดการใช้ไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิตซีเมนต์ในประเทศแทน 2) Green Products มีการพัฒนาปูนคาร์บอนต่ำเจเนอเรชัน 2 โดยตั้งเป้าสัดส่วนการขายปูนคาร์บอนต่ำทดแทนปูนเดิมที่ 90% ภายในปีนี้ และผลักดันให้มีการใช้สินค้า SCG Green Choice มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสินค้า 318รายการ ที่ได้รับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมีแผนที่จะขอจดเพิ่มอีก 210 รายการในปีนี้ 3) Green Solutions เน้นการพัฒนานวัตกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์คอนกรีต 3 มิติ (3D Printing) ที่ช่วยลดเศษวัสดุเหลือใช้หน้างานได้ถึง 70% และแพลตฟอร์มประเมินคาร์บอนงานก่อสร้าง หรือ KITCARBON ที่ใช้เทคโนโลยี Digital & BIM เข้ามาช่วยคำนวน Embodied Carbon ของโครงการ ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการออกแบบกระบวนการก่อสร้างและการเลือกใช้วัสดุ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร Executive Director บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) and Regional Manager A49 ขอนแก่น ในฐานะสถาปนิกและผู้ออกแบบ กล่าวว่า ทางบริษัทจัดตั้งแผนก Sustainability มา 20 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ หากจะทำให้ครบทั้งกระบวนการต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) บริษัทจึงจัดตั้งแผนกใหม่ชื่อ Integrated Research เพื่อบูรณาการความยั่งยืน ข้อมูล และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบเพื่อความยั่งยืนคือ วิธีคิดไม่ว่าจะเป็น Build Less สร้างให้น้อยลง เพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น Build Light ลดเศษวัสดุในการก่อสร้าง ใช้วัสดุที่นำมารีไซเคิลได้ Build Low Carbon ใช้วัสดุที่มีอยู่ โดยที่ไม่ได้เติมวัสดุสิ้นเปลืองเพิ่ม เป็นอีกหนึ่งวิธีคิดในการออกแบบเพื่อทำให้เกิดคาร์บอนต่ำ และ Build for The Future ออกแบบเพื่อเน้นการลด Operational Carbon เช่น การออกแบบเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในอนาคต เป็นต้น ทั้งนี้การลดคาร์บอนให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ดังนั้นเครื่องมือที่ใช้ในการคำนวณ Embodied Carbon และ Operational Carbon จึงสำคัญมากในอนาคต
ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม ผู้อำนวยการสถาบันแบบจำลองสารสนเทศอาคาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และคณะทำงานคาร์บอนนิวทัลลิตี้ สภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกรมีหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานการใช้แบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling Standard) ให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล พร้อมเผยแพร่ให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านจากยุค Analog สู่ยุค Digital นอกจากนี้ ทางสภาฯ ยังพร้อมด้วยวิศวกร จำนวน 200,000 คน และสถาปนิก จำนวน 50,000 คน เพื่อสนับสนุนองค์กรต่างๆ ในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (MTEC) กล่าวว่า ปัจจุบันทุกอย่างมุ่งสู่ Net Zero ทั่วโลกมีการออกมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมมากถึง 18,000 มาตรการ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 16% ยังไม่รวมถึงความต้องการด้านฉลากคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทางสถาบันฯ จึงมีหน้าที่ที่จะสนับสนุนข้อมูลให้ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่บางครั้งแม้ว่าเราจะมีฐานข้อมูลของไทยเอง แต่ผู้ประกอบการมักจะเจอปัญหาเวลาจดทะเบียนในต่างประเทศ เพราะใช้ฐานข้อมูลที่ต่างกัน ดังนั้นการพัฒนาฐานข้อมูลให้สอดคล้องกับบริบทหรือธุรกิจแต่ละประเภทนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น
ดังนั้นการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำของอุตสาหกรรมก่อสร้างนั้นจำเป็นต้องวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่วิธีคิด การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ การขนส่ง จนถึงการก่อสร้าง ซึ่ง KITCARBON ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ตอบโจทย์และช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลวัสดุก่อสร้าง สามารถคำนวน Embodied Carbon ของวัสดุแต่ละชนิด ลดต้นทุนโดยรวมและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้