โครงสร้างข้อเข่าพอสังเขป มีกระดูกต้นขา จากบริเวณต้นขา (ขาอ่อน) และมีกระดูกหน้าแข้งมารับต่อกันและมีกระดูกหลังหน้าแข้งรับน้ำหนักให้ข้อเข่ามีความแข็งแรง มีลูกสะบ้าอยู่ตรงกลาง ช่วยการเคลื่อนไหวเข่าให้มีความคล่องแคล่ว แล้วมีเยื่อหุ้มข้อเข่า ภายในมีน้ำไขข้อกระดูกหล่อเลี้ยงให้เข่าเคลื่อนไหวได้คล่องตัว แล้วชั้นนอกสุดจึงปกคลุมด้วยกล้ามเนื้อจากต้นขาเป็นมัดใหญ่ที่มีความแข็งแรงและรับน้ำหนักตัวได้ดี โดยมีกล้ามเนื้อข้อเข่าด้านหน้าและกล้ามเนื้อข้อเข่าด้านหลัง มีกล้ามเนื้อต้นขาด้านในและด้านนอก (เป็นลักษณะพังผืดเหนียว ช่วยกระชับต้นขาให้แข็งแรง) แล้วจึงลงมาที่กล้ามเนื้อด้านข้างหน้าแข้งและกล้ามเนื้อน่อง รวมกันทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างของข้อเข่าให้แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักตัวของเจ้าของไม่ว่าจะอ้วนหรือผอม จะยกของหนักหรือของเบาร่วมด้วย ช่วยการทรงตัวและเดิน วิ่งได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง ดังนั้นเวลามีความผิดปกติของโครงสร้างเข่าบริเวณใดบริเวณหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งบริเวณ ย่อมมีผลต่อเข่า เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม เข่าช้ำ เข่าห้อเลือด ข้อกระดูกเข่าเคลื่อน เข่าทรุด เข่าหลุด พื้นผิวเข่าสึก พื้นผิวข้อเข่าชิดกัน เกิดการเสียดสี มีเสียงดังในข้อเข่าเวลายืน เดิน อาการสำคัญที่เกิดขึ้น คือ “ปวด” เข่ารุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจุดผิดปกติอยู่บริเวณใดของโครงสร้างเข่า ความผิดปกตินั้นเป็นรุนแรงมากน้อย เป็นเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ย่อมมีผลต่อสภาพของโรค การฟื้นตัวเร็วหรือช้ามีผลเกี่ยวข้องกัน เช่น มีความผิดปกติจากการเกิดอุบัติเหตุ จากการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การหกล้ม น้ำหนักตัวของผู้ป่วย ลักษณะการสวมรองเท้าส้นสูงหรือส้นเรียบ ยกของหนักร่วมด้วยหรือไม่ การกระทบกระแทก ย่อมสร้างความรุนแรงของการบาดเจ็บไม่เหมือนกัน มีตั้งแต่เอ็นใต้ข้อเข่าด้านหน้าหรือด้านหลัง (ข้อพับเข่า) ระบม ช้ำ บวม ห้อเลือด หรือเอ็นฉีก จนถึงเอ็นขาด ความรุนแรงของโรคไม่เหมือนกัน การบาดเจ็บต่อพื้นผิวกระดูกอ่อนของข้อเข่าตั้งแต่พื้นผิวของกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง การเคลื่อนตัวของกระดูกสะบ้า หลุด หรือกระดูกร้าว หรือกระดูกแตกหัก เยื่อหุ้มข้อฉีก หรือช้ำระบม ห้อเลือด จนถึงที่รุนแรงสุดคือ กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง กระดูกหลังหน้าแข้งหัก การทรงตัวในการยืนและการเดินมีปัญหาแน่นอน อาจต้องใช้ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน จนถึงเครื่องช่วยพยุงการเดิน (Walker) เป็นตัวช่วยการเดินให้มั่นคงขึ้นและป้องกันการหกล้มซ้ำ
ดังนั้น โรคปวดเข่าจึงไม่จำเป็นต้องเป็นข้อเข่าเสื่อมเสมอไป แพทย์ต้องซักประวัติผู้ป่วย ดูอาการปวด ท่าเดินและท่ายืน รวมถึงการ X-ray ข้อเข่า (เอกซ์เรย์) จะวินิจฉัยได้ชัดเจนขึ้น ดังนั้นจึงต้องใส่ใจกับเข่าทั้ง 2 ข้างเป็นอย่างมาก เพื่อการทรงตัวที่ดีและท่ายืน+เดินได้อย่างมั่นคง
ที่มา: หมอโฆษิต