กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร ผนึกกำลังจับมือกลุ่ม GGC ที่มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ดันโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยที่สอดรับกับแนวนโยบายของ รัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)
นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยถึงโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นโครงการที่รวมกันระหว่าง 2 ผู้ถือหุ้น จากกลุ่ม KTIS และกลุ่ม GGC ที่มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการนนี้จะก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ชีวภาพใหม่ๆ ในอนาคต
โดยโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ นับได้ว่าเป็นโครงการไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยที่สอดรับกับแนวนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) อันเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้ง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนใกล้เคียงก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งอ้อยที่จะนำมาหีบเพื่อส่งน้ำอ้อยเข้าสู่โรงงานเอทานอลแห่งใหม่นี้ จะแยกจากอ้อยที่นำส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS โดยจะมีพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร่ คู่สัญญาเพิ่มขึ้นประมาณ 240,000 ไร่ คาดว่าจะผลิตอ้อยได้ 2.4 ล้านตันต่อปี
สำหรับการลงทุนในโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์เฟสแรกนั้น จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งหมดไม่เกิน 7,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงาน 3 โรง ได้แก่ โรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โรงผลิต เอทานอล กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง โดยแหล่งเงินทุนของโครงการนี้จะมาจากเงินทุนของผู้ถือหุ้นฝ่ายละไม่เกิน 1,300 ล้านบาท รวมเป็น 2,600 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศ
“โครงการนี้จะมีผลดีหลายประการต่อเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศชาติ ทั้งการเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่อ้อยหลายพันครัวเรือน การจ้างงานในช่วงการก่อสร้างนับพันอัตรา โดยจะเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2562 และดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564″ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าว และเสริมว่า สำหรับโครงการผลิตเอทานอลนี้ในระยะแรก จะจำหน่ายเอทานอลให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม แต่ในระยะที่ 2 จะมีการลงทุนเพิ่มเติมในวงเงิน 10,000-30,000 ล้านบาท เพื่อนำเอทานอลที่ได้จากการลงทุนในเฟสแรกไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าในธุรกิจเคมีชีวภาพและ/หรือพลาสติกชีวภาพต่อไป” นายประพันธ์กล่าว
นอกจากนี้แล้ว โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ยังมีประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยทางเศรษฐกิจนั้นจะมีการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และแรงงานในพื้นที่ที่จะเข้ามาทำงานในโรงงาน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น ส่วนในด้านสังคมนั้นโครงการนี้ทำให้แรงงานในชุมชนไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ครอบครัวจะเข้มแข็งขึ้น และด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะเห็นได้ชัดเจนมากตั้งแต่กระบวนการผลิตของโรงงานหีบอ้อยและโรงงานเอทานอลที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ทำให้ไม่เกิดของเสียออกสู่ภายนอกไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียหรือฝุ่นควันต่างๆ
นอกจากนี้ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ยังมี Carbon Credit ที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องของการลดมลพิษ ทั้งในไร่อ้อยและในโรงงาน โดยจะแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ด้วยการใช้รถตัดอ้อย และรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานด้วย