ปัญหาและโรคภัยของนัยน์ตาที่เราใช้มองภาพต่างๆ ทั้ง 2 ข้าง ทางการแพทย์ได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคทางจักษุได้ชัดเจน แม่นยำมากขึ้น และมีวิธีการรักษาหรือแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคทางจักษุวิทยาที่ปัจจุบันพบได้บ่อยและเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากความเจริญทางวัตถุ อุปกรณ์ไอที คอมพิวเตอร์ต่างๆ ฯลฯ ยังผลให้ผู้บริโภคและบุคลากรที่ทำงานด้านไอทีต้องใช้สายตาในการเพ่งมองหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างมากและต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้โครงสร้างของลูกนัยน์ตาทั้ง 2 ข้างต้องทำงานมากขึ้น ภาวะเครียดทางกายและใจมีส่วนก่อให้เกิดปัญหาของลูกนัยน์ตาได้ โรคหนึ่งที่พบบ่อยและทวีความรุนแรงมากขึ้น คือ โรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งมีสาเหตุหลักอยู่ 2-3 สาเหตุ
1) เกิดจากการใช้งานทางสายตามากขึ้น พักผ่อนต่อนัยน์ตาไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดการเสื่อมตัวของจอประสาทตาเร็วขึ้น นอกจากนี้อายุที่มากขึ้นมีผลต่อการเสื่อมตัวของจอประสาทตา
2) อุบัติเหตุหรือการถูกทำร้ายต่อลูกนัยน์ตาและกระทบกระเทือนมาถึงจอประสาทตา เกิดความเสียหายบอบช้ำต่อจอประสาทตาเกิดความผิดปกติได้
3) โรคแทรกซ้อนจากโรคอื่นที่มักจะได้ยินบ่อยคือ เบาหวานขึ้นตา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อจอประสาทตา หรือโรคความดันโลหิตสูง ขาดการดูแลเอาใจใส่ มีผลกระทบกระเทือนต่อจอประสาทตา เป็นต้น
ปกติจอประสาทตาเป็นส่วนที่ต่อจากแก้วตาดำและเลนส์ตา เพื่อการรับภาพมาที่จอประสาทตา เพื่อแสดงความกว้างไกลของภาพที่เห็นและการส่งต่อไปยังเส้นประสาทตาและเชื่อมต่อไปยังสมองเพื่อการรับรู้และเข้าใจถึงภาพที่มองเห็น เมื่อเกิดความผิดปกติของจอประสาทตา ภาพต่างๆ ที่มองเห็นไม่สามารถส่งต่อไปยังเส้นประสาทตาเพื่อส่งต่อไปยังสมอง มักมีปัญหาการมองเห็นภาพไม่ชัด ภาพพล่ามัว บางครั้งเห็นภาพเป็นมุมแคบลง ไม่สามารถมองในวงกว้างได้ จนถึงขั้นก่อให้เกิดความพิการทางสายตา ตามืดบอด มีผลต่อคุณภาพชีวิตและเป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม
การรักษา เมื่อมีความผิดปกติของการมองเห็นภาพ คงต้องพบจักษุแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป หากพบว่าเป็นจากจอประสาทตาเสื่อม การรักษาส่วนใหญ่มักจะให้ ยาหยอดตา เพื่อรักษาและฟื้นฟูให้จอประสาทตากลับมาทำงานปกติ การใช้แสงเลเซอร์เพื่อช่วยปัญหาต้นเหตุที่เกิดกับจอประสาทตา และการผ่าตัดจอประสาทตาเพื่อแก้ไขความผิดปกติของโครงสร้างจอประสาทตาให้กลับสู่สภาพปกติหรือใกล้เคียงปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องใส่ใจและดูแล รวมถึงการมีวินัยต่อการถนอมสายตาและติดตามการรักษากับจักษุแพทย์อย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเรียนรู้วิธีป้องกันโรคภัยหรือภยันตรายที่เกิดกับลูกนัยน์ตาด้วย
ที่มา: หมอโฆษิต