ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้กฟน.มีอำนาจในการผลิตไฟฟ้า เพื่อพัฒนาประเทศ


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2565 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจในการผลิตพลังงานไฟฟ้า การนำเทคโนโลยี อุปกรณ์ ทรัพย์สิน หรือบุคลากรที่มีอยู่นำไปเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณของประเทศชาติ และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มอำนาจการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการลงทุนและการประกอบการกิจการด้านพลังงานไฟฟ้าในต่างประเทศ ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำของพนักงานในการสร้างและบำรุงรักษา ระบบจำหน่ายไฟฟ้า ให้การไฟฟ้านครหลวงใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการนั้น รวมทั้งกำหนดท้องที่ที่ให้บริการให้ชัดเจนสอดคล้องกับปัจจุบัน และแก้ไขเพิ่มเติมวงเงินการกู้ยืมที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีโดยให้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนเกินคราวละ 100 ล้านบาท (เดิม กำหนดไว้ 40 ล้านบาท) ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการของการไฟฟ้านครหลวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยโดยรวมต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

เพิ่มวัตถุประสงค์ ของ กฟน. ดังนี้
1.1 ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง จำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า (เดิม กำหนดเฉพาะจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า) โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้ กฟน. สามารถมีอำนาจดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

1) ให้มีอำนาจผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ (เดิม ไม่สามารถดำเนินการได้) โดยเป็นการผลิตไฟฟ้า ณ จุดใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า หรือระบบไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่เฉพาะเจาะจง (Distributed Generation : DG)จากพลังงานความร้อนและน้ำเย็นร่วมกัน (Combined Heat and Power : CHP) พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสภาวะแวดล้อม เช่น ขยะมูลฝอย แสงอาทิตย์ ลม และพลังงานนอกรูปแบบ ตามความเหมาะสมของเทคโนโลยีและสภาพพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและเชื่อถือได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและใช้พลังานไฟฟ้า ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศต่ำลง

2) ให้มีอำนาจจัดส่ง ประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทระบบจำหน่ายไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าที่ กฟน. ได้รับ

1.2 ดำเนินธุรกิจและกิจการอื่นใดโดยสามารถนำเทคโนโลยีอุปกรณ์ทรัพย์สิน หรือบุคลากรที่มีอยู่นำไปเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาประเทศเพื่อเป็นการประหยัดงบ ประมาณของประเทศชาติ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ กฟน. รวมถึงเปิดโอกาสให้ กฟน. ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และประชาชนด้านอื่น ๆ โดยไม่กระทบภารกิจหลักในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เช่น การทำแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) โครงข่ายใยแก้วนำแสง และโครงการธุรกิจจัดการพลังงาน (ESCO) เป็นต้น

2. กำหนดเพิ่มเติมให้ กฟน. มีอำนาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจและทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3. กำหนดท้องที่ที่ กฟน. เป็นผู้จำหน่ายสำหรับพลังงานไฟฟ้า และประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ได้แก่ ให้ดำเนินการได้ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่แล้ว ณ วันจัดตั้งการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งพื้นที่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน หรือตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในการตีความเกี่ยวกับท้องที่เขตจำหน่ายไฟฟ้าระหว่าง กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

4. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำของพนักงานในการสร้างและบำรุงรักษาระบบจำหน่ายไฟฟ้า ให้ กฟน. ใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการนั้น (เดิม กำหนดให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย)

5. แก้ไขเพิ่มเติมวงเงินการกู้ยืมเงินที่ กฟน. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนในการดำเนินการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุน จาก “จำนวนเงินเกินคราวละ 40 ล้านบาท” เป็น “จำนวนเงินเกินคราวละ 100 ล้านบาท”

6. แก้ไขเพิ่มเติมให้ กฟน. นำส่งรายได้ในปีหนึ่งๆ เมื่อได้หักรายจ่ายแล้ว เหลือเท่าใด ให้นำส่งเป็นรายได้ตามที่ กค. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

7. แก้ไขปรับปรุงถ้อยคำให้เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับนิยามคำว่า “ระบบไฟฟ้า” และ “ระบบจำหน่ายไฟฟ้า” ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save