30 ตุลาคม 2566 – นายฐิติวุฒิ เงินคล้าย รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ร่วมกับ นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม พร้อมด้วยสำนักงานเขตบางพลัด ฝ่ายบริหารโครงการ ฝ่ายบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรี และการไฟฟ้านครหลวงเขตบางใหญ่ MEA ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า และประชาสัมพันธ์การรื้อถอนเสาไฟฟ้าในพื้นที่โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในพื้นที่ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 94/1 ถึง แยกท่าพระ รวมระยะทาง 11.4 กิโลเมตร โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2567
รองผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า ตามที่ MEA ได้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่องตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล สำหรับพื้นที่ ถนนจรัญสนิทวงศ์ MEA ได้ดำเนินโครงการเตรียมรองรับความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและเสริมสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงามยิ่งขึ้น โดยล่าสุดสามารถดำเนินการด้านงานก่อสร้างได้กว่า ร้อยละ 92 คงเหลือเพียงการรื้อถอนเสา-สายไฟฟ้า ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 94/1 ถึง ซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร มีกำหนดรื้อถอนเสา-สายไฟฟ้า ในเดือน ธันวาคม 2566
ช่วงที่ 2 แยกท่าพระ ถึง แยกไฟฉาย ระยะทาง 2.9 กิโลเมตร มีกำหนดรื้อถอนเสา-สายไฟฟ้า ในเดือน ธันวาคม 2566
ช่วงที่ 3 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 ถึง แยกไฟฉาย ระยะทาง 3.3 กิโลเมตร มีกำหนดรื้อถอนเสา-สายไฟฟ้า ในเดือน พฤษภาคม 2567
ในด้านภาพรวมโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดของ MEA ในปัจจุบันมีระยะทางทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร มีเป้าหมายก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 ซึ่งเมื่อมีการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้วก็จะต้องมีการสร้างท่อและนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปด้วย โดยในขณะนี้ MEA สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จรวม 62 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญในถนนต่างๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ เป็นต้น
ขณะเดียวกันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 251.5 กิโลเมตร เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และโครงการก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ โดยภายในปี 2566 MEA คาดว่า ภายในสิ้นปีจะมีระยะทางที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 29.2 กิโลเมตร ทำให้มีระยะทางสายใต้ดินสะสมรวมทั้งสิ้น 91.2 กิโลเมตร
ที่มา: การไฟฟ้านครหลวง