เอ็มจีทุ่มงบ 2,500 ล้านบาท สร้างโรงงานแบตเตอรี่ รองรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร


บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ MG ในประเทศไทย เผยแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ.2565 เดินหน้ารุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ EV ในไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน เตรียมสร้างโรงงานแบตเตอรี่ด้วยงบ 2,500 ล้านบาท รองรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สถานีชาร์จครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ การพัฒนาและการจัดการแบตเตอรี่ที่ดี และการสร้างความรู้พื้นฐานและความเข้าใจไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มลูกค้าเดิมให้มากยิ่งขึ้น

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรอบด้าน รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายต่างปรับตัวเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่ตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภคมากขึ้น MG ได้นำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ MG ยานยนต์ไฟฟ้าให้มีศักยภาพตอบสนองให้คนไทยได้ใช้งานรถยนต์พลังงานทางเลือกโดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) โดยในปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมาสามารถสร้างยอดขายได้ 31,005 คัน หรือมีอัตราการเติบโตที่ 9.5% ถือเป็นแบรนด์รถยนต์เพียงไม่กี่แบรนด์ที่มีตัวเลขอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น เช่น ALL NEW MG5 สามารถขึ้นเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก หรือB-segment ภายในเวลาเพียงแค่ 2 เดือนหลังจากการเปิดตัว ในส่วนของกลุ่ม SUV ที่เป็นโมเดลทำตลาดหลักของ และในปีพ.ศ. 2564 สามารถรั้งตำแหน่งในกลุ่มผู้นำต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นจากกลุ่มลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร โดยครองการเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึงกว่า 90% อีกทั้งยังสามารถดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จแบบเร็ว MG Super Charge ทั่วประเทศแล้วจำนวน 120 แห่ง เป็นต้น

มร.จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์โลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้น MG จึงได้ทุ่มงบประมาณ ส่งผู้เชี่ยวชาญและร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกับสถาบันการศึกษาและองค์กรชั้นนำของประเทศไทย รวมทั้งวางแผนการผลิตและการหาช่องทางการบริการที่ดีตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคทุก ๆ กลุ่ม ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคก็ยังคงมีความต้องการใช้รถยนต์ และยังคงมีกลุ่มที่มีความต้องการใหม่ๆเกิดขึ้น โดยในปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา MG ได้มีการอัพเกรดพัฒนาระบบภายในในภาคการผลิต ระบบการทำการตลาดการขาย ระบบการให้บริการในประเทศมากขึ้น รวมทั้งมีการดำเนินงานส่งออกผลิตภัณฑ์ยานยนต์ MG ไปยังประเทศอินโดนีเซียครั้งแรก และเวียดนาม ส่วนในปีพ.ศ.2565 นี้คาดว่าจะเริ่มส่งออกไปมาเลเซีย และประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มเติม และในปี พ.ศ.2565 นี้ MG ก็ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนายานยนต์ตอบสนองตลาดในทุก ๆ กลุ่มอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเดินหน้าก่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ที่จังหวัดชลบุรี ด้วยจำนวนเงินลงทุน 2,500 ล้านบาท และลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จในหลายๆพื้นที่ และเครือข่ายสถานีชาร์จเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ซึ่งหากทำได้ตามแผนการดำเนินงานจะทำให้ในปี พ.ศ.2566 จะสามารถดำเนินการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เข้ามาประกอบในประเทศไทยอีกซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จำนวนมาก

ในส่วนของการขอรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นั้น ทางMG ได้รับการช่วยเหลือตามนโยบายการลงทุนด้วยดีมาตลอด โดยเฉพาะการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอยู่ในระหว่างการศึกษาและวิจัยในเรื่องของวิธีการจัดการแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วอีกด้วย

มร.จาง ไห่โป กล่าวว่า สำหรับเป้ายอดขายใน MG ปีพ.ศ.2565 ประมาณ 42,000 คัน และMG คาดว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศในปี พ.ศ. 2565 จะเติบโตขึ้นโดยมียอดขายรวมอยู่ที่ 800,000 – 850,000 คัน

“MG จะเน้นพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทั้งเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันและรถยนต์พลังงานทางเลือกอย่างยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้รถของคนไทย มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์และการบริการควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลิตภัณฑ์ MG จะครองใจกลุ่มผู้บริโภคเดิมและกลุ่มผู้บริโภคใหม่ในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคตจากนี้” มร.จาง ไห่โป กล่าว

แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและความพร้อมก้าวสู่ยุคแห่งยานยนต์ไฟฟ้า

ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน คณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก การที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้เปลี่ยนใช้ยานยนต์ไฟฟ้านั้นจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมจากทางภาครัฐมาอย่างต่อเนื่องและผู้ประกอบการภาคเอกชนต้องมีการปรับแผนการทำงานสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองภาครัฐและกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการปรับทั้งภาครัฐและเอกชนค่อนข้างได้ผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภคทำให้แนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามลำดับ และในขณะเดียวกันยานยนต์แบบเดิมก็ยังครองใจกลุ่มผู้บริโภคอยู่เช่นกัน และจากนี้หากทางภาครัฐและภาคเอกชนอยากให้วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทั้งแบบสันดาปปกติและยานยนต์ไฟฟ้ามีความพร้อม กลุ่มผู้บริโภคให้การตอบรับที่ดียิ่งขึ้นจำเป็นต้องมีการทำการวิจัย นำผลที่ได้ไปปรับแผนการดำเนินนโยบาย สร้างผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผู้บริโภคต้องการโดยเฉพาะเรื่องราคาที่จูงใจและถูกกว่ารถยนต์สันดาปภายในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้ารองรับในทุก ๆระบบ กำหนดค่าให้บริการทั้งราคาน้ำมันและราคาการชาร์จไฟฟ้าในแต่ละครั้งของแต่ะค่ายอย่างเป็นธรรม รวมทั้งมีการให้บริการหลังการขายอย่างมีประสิทธิภาพ มีอะไหล่พร้อมซ่อมบำรุง มีการส่งเสริมการลงทุนทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยจากทางภาครัฐ เป็นต้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save