สจล. จับมือ ซีเอ็มเคแอล และ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมจัดตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” คาดเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน AI ได้ ส.ค.65 นี้


สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) จับมือ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมจัดตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” เพื่อเปิดให้นักศึกษาเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้และฝึกประสบการณ์แบบข้ามมหาวิทยาลัยได้ รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะเปิดหลักสูตรสอนเกี่ยวกับ AI ได้ภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 นี้

ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มีความสำคัญและจำเป็นในการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลอย่างมาก เนื่องมาจากในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทั่วโลกได้นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้อย่างแพร่หลายทำให้เกิดการแข่งขันทางเทคโนโลยีในรอบใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยในการแข่งขันในเวทีโลก ในการผลิตบุคลากร สร้างเครื่องมือและหลักสูตรใหม่ๆด้าน AI สัญชาติไทย เพื่อลดช่องว่างในการแข่งขันระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้วให้ลดลง ทาง อว.จึงได้มีแนวนโยบายในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้าน AI มาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับความร่วมมือกันจัดตั้ง สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ของทั้ง 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของการผลิตกำลังคนของระบบอุดมศึกษาในอนาคต ช่วยพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศให้มีศักยภาพตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมให้ทันเวลากับการใช้งาน ตามความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเกิดขึ้นภายใต้นโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาทั่วไป และมั่นใจว่าคณาจารย์ บุคลากร หลักสูตรและพันธมิตรในภาคเอกชนจะพร้อมสร้างรูปแบบและวิธีการจัดหลักสูตรใหม่ๆด้าน AI และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จและพร้อมขยายสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆของประเทศไทยต่อไป

CMKL พร้อมจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์รองรับบุคลากรด้าน AI

รศ. ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น

รศ. ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนบัณฑิตด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จากรายงานแนวโน้มความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของ สอวช. พบว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์จะมีความต้องการบุคลากรเป็นจำนวนสูงถึง 34,505 ตำแหน่ง ขณะที่รายงานสารสนเทศด้านการศึกษาในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยปี พ.ศ.2560-2564 พบว่านักศึกษามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา พ.ศ. 2564 พบจำนวนนักศึกษาใหม่ 17,485 คนและลดลงกว่าปี 2560 ถึงกว่า 7.6% หรือประมาณ 18,902 คน ซึ่งสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความขาดแคลนลุคลากรรองรับความต้องการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลจำนวนมาก ซึ่งการจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ในครั้งนี้ หวังอย่างยิ่งว่าจะช่วยลดอุปสรรคด้านการเรียนรู้ด้วยพัฒนาหลักสูตรแบบเน้นสมรรถนะของผู้เรียน ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงผ่านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย โดยกระตุ้นให้นักศึกษามีความสนใจเข้าศึกษาต่อสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล คอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์มากยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถผลิตบุคลากรให้เพียงพอความต้องการของประเทศได้ โดยคาดว่าจะเปิดหลักสูตรสอนด้สน AI ได้ภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 นี้ เบื้องต้นตั้งเป้าจะผลิตนิสิตนักศึกษาด้าน AI ให้ได้ปีการศึกษาละ 15-30 คน

ที่มาของการจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์

รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ

รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สำหรับการร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ที่ตรงกันระหว่างผู้บริหารทั้ง 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารหลักสูตรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันจัดการศึกษาที่แตกต่างโดยอาศัยหลักการแซนด์บ็อกซ์ (SANDBOX) พลิกรูปแบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาไทย ซึ่งจะเริ่มปีการศึกษา พ.ศ.2565 นำร่องการเรียนการสอนเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนเป็นหลักเพื่อให้นำนักศึกษานำไปใช้งานได้จริง เช่น เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบัน สามารถใช้หน่วยกิตของรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันระหว่างสถาบันที่มีความร่วมมือให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตในหลักสูตรของสถาบันที่นักศึกษาสังกัดได้ นำรายวิชาที่มีการลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันไปอยู่ในระบบคลังหน่วยกิตและเก็บสะสมได้ตามข้อกำหนดของแต่ละสถาบัน ส่งเสริมประสบการณ์ทางวิชาการและสังคมแก่นักศึกษาให้มีความรู้พัฒนาสร้าง AI ใช้งานได้เองลดการสั่งซท้อนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนในอนาคตพร้อมขยายสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆและภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมบ่มเพาะการเรียนการสอนด้าน AI ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save