ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นิว เอ็นเนอร์จี้ พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ NEPS ผู้นำด้านการให้บริการพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับสากล กล่าวถึงรูปแบบการทำธุรกิจของ NEPS ว่าสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาติ (UN) ใน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 7 การเข้าถึงพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนในราคาย่อมเยา (Affordable and Clean Energy) ด้วยโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานสะอาดที่สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม มีราคาที่สามารถเข้าถึงได้ และปัจจุบันธนาคารหลายแห่งมีบริการสินเชื่อโซลาร์เซลล์ และเป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Sustainable Cities and Communities) ซึ่งการติดตั้งโซลลาร์เซลล์ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก และช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของชุมชนโดยรอบของพื้นที่ที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์อีกด้วย
การดำเนินงานของ NEPS ยังตอบโจทย์เป้าหมายที่ 17 ในเรื่องของการสร้างพาร์ทเนอร์ความร่วมมือเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnership for the Goals) ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนไทยได้รู้จักและหันมาใช้โซลาร์เซลล์ แล้วร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมสีเขียวที่ใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือกมากขึ้น ด้วยเป้าหมายของ NEPS ที่ต้องการเปลี่ยนพลังงานทางเลือกให้เป็นพลังงานหลัก เพื่อสร้างการใช้พลังงานที่ยั่งยืนในระยะยาว
ตรีรัตน์ กล่าวว่า NEPS ได้นำความรู้และเชี่ยวชาญด้านโซลาร์เซลล์ไปต่อยอดสู่การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมกับโครงการ “Solar for People” โดยเข้าไปติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับองค์กรที่มีความเชื่อมโยงกับสังคม อาทิ วัดซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน หรือโรงเรียนที่เป็นสถานที่บ่มเพาะเด็กและเยาวชน เป็นต้น ด้วยเป้าหมายคือต้องการให้คนไทยได้รู้จักและใช้พลังงานสะอาด พร้อมทั้งร่วมสร้างสถานที่นั้นๆ ให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงาน โดยได้ปักหมุดโครงการที่วัดป่าสุขใจ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นแห่งแรก ซึ่งวัดป่าสุขใจเป็นวัดที่มีพระปฏิบัติกรรมฐานและวิปัสสนาจำนวนมาก รวมถึงได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปปฏิบัติธรรม ภายในวัดมีการใช้ไฟฟ้าในบางจุดเท่านั้น คือ โรงครัว และศาลารวมใจสำหรับการปฏิบัติธรรม แต่ในส่วนของกุฏิและที่พักไม่มีไฟฟ้าใช้งาน ทาง NEPS จึงเข้าไปเติมเต็มและปรับระบบการใช้ไฟฟ้าของวัดด้วยการบริจาคและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 5.58 กิโลวัตต์ ซึ่งครอบคลุมปริมาณการใช้ไฟทั้งหมดของวัด
นอกจากนั้น NEPS ได้ขยายผลโครงการสู่วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดป่าบ้านจิก) จังหวัดอุดรธานี โดยเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาและผูกพันกับชาวบ้านมาอย่างยาวนานกว่า 90 ปี อีกทั้งยังเป็นวัดที่ได้รับการแนะนำให้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานี และด้วยความที่เป็นวัดขนาดใหญ่และมีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก ทาง NEPS จึงเข้าไปช่วยลดค่าไฟให้กับทางวัดด้วยการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปซึ่งผลิตกำลังไฟได้ 49.28 กิโลวัตต์ โดยรวมเงินบริจาคสำหรับแผ่นโซลาร์เซลล์และการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับวัดป่าสุขใจและ วัดทิพยรัฐนิมิตรอยู่ที่ 2.2 ล้านบาท
“การเข้าไปติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับวัด เราจะให้ความรู้และสร้างความเข้าใจถึงมิติต่างๆ ของโซลาร์เซลล์ให้กับ พระและเจ้าหน้าที่วัดด้วย ทั้งประโยชน์และข้อดีของโซลาร์เซลล์ที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน รวมถึงให้ข้อมูลถึงการทำงานของระบบโซลาร์เซลล์ว่าเป็นอย่างไร สามารถผลิตไฟได้ช่วงเวลาไหน แล้วแนะนำให้วัดควรใช้ไฟในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อความคุ้มค่าและลดค่าไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเราจะประเมินให้ทางวัดทราบว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะช่วยลดค่าใช้จ่ายเท่าไร และสร้างความยั่งยืนในระยะยาวอย่างไร โดย NEPS ได้ส่งทีมงานเข้าไปช่วยดูแลทั้งเรื่องการใช้งานและบำรุงรักษาโซลาร์เซลล์อย่างใกล้ชิด” ตรีรัตน์ กล่าว
สำหรับโครงการ Solar for People ของ NPES มีแผนดำเนินกิจกรรมในทุกปี สำหรับส่งมอบโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดกระจายไปสู่สถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อเสริมสร้าง Ecosystem สถานที่นั้นๆ ให้มีสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs อีกด้วย