ขณะที่ทั่วโลกกำลังพยายามบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างจริงจังมากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามที่เป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้น คือ ความพยายามนี้จะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไรและเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจให้มีความสอดคล้องในด้านใดบ้าง รายงานฉบับใหม่โดยแมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี เผยข้อมูลที่ครอบคลุมกว่าผลสำรวจใดๆ ที่เคยมีมา ถึงลักษณะและขนาดของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ภายใต้รายงานชื่อ “The net-zero transition: What it would cost, what it could bring” ซึ่งสำรวจข้อมูลสำคัญด้านอุปสงค์ ค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิต และตำแหน่งงานในภาคส่วนต่าง ๆที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 85% จากปริมาณทั้งหมดของโลก ร่วมกับผลวิเคราะห์เชิงลึกจาก 69 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย
“การเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ ควบคู่ไปกับความร่วมมือของภาคส่วน ประเทศ และสังคมกลุ่มเปราะบาง สามารถช่วยส่งเสริมการปรับตัวด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จำเป็นได้” เมคะลา กฤษนันท์ หุ้นส่วนสถาบันแมคคินซีย์ โกลบอล และหนึ่งในผู้เขียนรายงานวิจัย กล่าว
รายงานฉบับนี้ประเมินการเปลี่ยนแปลงใน 2 มิติ ได้แก่ ภาคส่วนและภูมิศาสตร์ และวิเคราะห์นับตั้งแต่ระยะเวลาที่เริ่มศึกษาตลอดจนเส้นทางสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามสมมติฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ของเครือข่ายของธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับ เพื่อทำให้ระบบการเงินเป็นสีเขียว (Network for Greening the Financial System) โดยมีข้อมูลสำคัญ ดังนี้
- การเปลี่ยนผ่านนี้จะเกิดขึ้นทั่วโลก ภาคเศรษฐกิจทั้งหมดจากทุกนานาประเทศจะได้รับผลกระทบหลังระบบด้านพลังงานและการใช้ที่ดินที่มีการปล่อยมลพิษได้รับการปรับปรุง
- ขนาดของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะมีนัยสำคัญ ต้นทุนในการซื้อสินทรัพย์ที่จับต้องได้จะมีมูลค่ารวมประมาณ 275 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี พ.ศ.2593 หรือราว 9.2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพิ่มขึ้น 3.5 ล้านล้านดอลลาร์จากการใช้จ่ายประจำปีในปัจจุบัน เนื่องจากกิจกรรมที่ส่งผลต่อการปล่อยมลพิษในปริมาณสูงนั้นมีจำนวนลดลง และกิจกรรมที่ส่งผลต่อการปล่อยมลพิษในปริมาณต่ำมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันปริมาณการใช้จ่ายด้านพลังงานและทีดินกว่า 65% ถูกใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยมลพิษสูง หากแต่ในอนาคต กว่า 70% จะถูกเปลี่ยนมาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยมลพิษต่ำและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะสวนทางกับกระแสปัจจุบัน จากรายได้และจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และนโยบายกฎหมายด้านการเปลี่ยนผ่านที่มีอยู่ในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจะมีมูลค่าราวหนึ่งล้านล้านดอลลาร์
- การจัดสรรแรงงานใหม่อาจเป็นเรื่องจำเป็น ด้วยจะมีตำแหน่งงานจากการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นกว่า 200 ล้านตำแหน่ง และมีตำแหน่งงานที่ต้องยุติลงกว่า 185 ล้านตำแหน่งภายในปี พ.ศ.2593 จากการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
- ต้นทุนค่าใช้จ่ายจะสูงในปีแรกๆ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษแรก รายจ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 6.8 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกในปัจจุบัน เป็น 8.8 % ระหว่างปี พ.ศ.2569 ถึง 2573 ก่อนที่จะลดต่ำลง
- ผลกระทบจะกระจายออกสู่แต่ละภาคส่วน ประเทศ และชุมชน ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ภาคที่มีการปฏิบัติงานหรือการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำ ประเทศที่มีแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ และชุมชนที่เศรษฐกิจท้องถิ่นต้องพึ่งพาภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก และอีก 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลกเป็นกลุ่มภาคส่วนที่ห่วงโซ่อุปทานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจากทุกพื้นที่ อาจได้รับผลกระทบจากค่าไฟที่สูงขึ้นในช่วงแรก และค่าใช้จ่ายเบื่องต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยมลพิษต่ำ เช่น เครื่องทำความร้อนรุ่นใหม่ หรือรถยนต์ไฟฟ้า
- การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะมีขนาดใหญ่หากการจัดการไร้ระเบียบ การเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น การขาดแคลนด้านพลังงานและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นหากไม่มีการจัดการที่ดี ถ้าการเปลี่ยนแปลงเกิดความล่าช้าหรือสะดุด อาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากการตกค้างของสินทรัพย์และการกระจัดกระจายแรงงาน
- ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง การปรับเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะมาพร้อมกับโอกาสมากมายและช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านกายภาพอื่นๆ ในขณะที่ผลกระทบจะกระจายออกไปในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน การเปลี่ยนแปลงที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า อาทิ ศักยภาพในการลดต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาว ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้น และการอนุรักษ์ต้นทุนทางธรรมชาติ มีโอกาสเติบโตในหลายด้าน เช่น การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างตลาดใหม่สำหรับสินค้าที่ปล่อยมลพิษต่ำ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จะสามารถป้องกันผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ รวมถึงจำกัดความเสี่ยงวงจรสะท้อนกลับ (feedback loop) และทำให้เราสามารถหยุดยั้งปัญหาภาวะโลกร้อนที่อาจสูงขึ้นมากกว่านี้
การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาคธุรกิจ รัฐบาล สถาบันและประชาชนจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ทั้งหมด การเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนและการรับมือความเสี่ยงในระยะสั้น การก้าวไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความช่างคิดประดิษฐ์รวมถึงการขยายขอบเขตการวางแผนและการลงทุน
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การคว้าโอกาสและการปรับตัวรับมือกับความเสี่ยงทางกายภาพ
ดิคกอน พินเนอร์ หุ้นส่วนอาวุโสแมคคินซีย์ และรองหัวหน้ากลุ่มงานด้านความยั่งยืน กล่าวว่า แม้การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะมีความซับซ้อนและเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น
“คำถามในตอนนี้คือโลกจะสามารถเดินหน้าอย่างกล้าหาญ ขยายความรับผิดชอบ และเพิ่มการลงทุนที่จำเป็นในทศวรรษหน้าที่จะถึงนี้ได้หรือไม่” ดิคกอน พินเนอร์ กล่าว
รายงานการศึกษาฉบับนี้ต่อยอดจากแผนงานวิจัยของแมคคินซีย์ Solving the net-zero equation: Nine requirements for a more orderly transition, และต่อเนื่องจาก Climate risk and response: Physical hazards and socioeconomic impacts ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2563 ซึ่งแมคคินซีย์ใช้ความพยายามในการวิจัยข้ามสาขาวิชาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี โดยเน้นศึกษาความเสี่ยงด้านกายภาพและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้คน สังคม ต้นทุนทางธรรมชาติและกายภาพ รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทิศทางขององค์กร รัฐบาล สถาบันการเงินและเอกชน