บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทชั้นนำด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การบริหารการดำเนินธุรกิจ โดย นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คนใหม่ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งและเริ่มทำงานเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมาได้แถลงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนราช กรุ๊ป สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนใน พ.ศ. 2593 ด้วยแนวคิด “ทำแล้ว ทำต่อ ทำให้ดีขึ้น” เพื่อผลักดันการดำเนินธุรกิจใน 5 ด้าน ให้บรรลุตามเป้าหมายภายใน 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง พร้อมเผยแผนการจัดสรรงบลงทุนในปี พ.ศ.2567 ไว้ที่ 15,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าปี พ.ศ. 2567-2573 ให้เพิ่มขึ้นปีละ 700 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ
นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภารกิจสำคัญในการเข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ราชกรุ๊ป คือ การขับเคลื่อนราช กรุ๊ป สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนใน พ.ศ. 2593 ด้วยแนวคิด “ทำแล้ว ทำต่อ ทำให้ดีขึ้น” และได้วางแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ โดยเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานเพื่อลดปริมาณความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15% เทียบกับปีฐาน ปี พ.ศ. 2558 การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและธุรกิจสีเขียวให้ได้ 30% ของกำลังการผลิตรวม และการชดเชยหรือดูดกลับคาร์บอนเพิ่มให้ได้ 1% ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทย เพื่อผลักดันการดำเนินธุรกิจใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. กลยุทธ์ธุรกิจ ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก และธุรกิจนอกภาคผลิตไฟฟ้า หรือ Non-power เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าระยะยาวให้กับ ราช กรุ๊ป อีกทั้งรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง 2.การลงทุน ที่มุ่งเน้นสร้างความสมดุลระหว่างการเข้าซื้อกิจการที่ดำเนินการแล้ว และการพัฒนาโครงการใหม่ เพื่อรักษากระแสเงินสดและอัตราผลตอบแทนให้เหมาะสม 3.การบริหารสินทรัพย์ โดยให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าเพื่อให้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีความมั่นคงเชื่อถือได้สำหรับประเทศและลูกค้า ตลอดจนสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับ ราช กรุ๊ป 4.การบริหารการเงิน ให้พร้อมสำหรับการขยายธุรกิจของ ราช กรุ๊ป ทั้งในประเทศและต่างประเทศและเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และ 5.การบริหารทรัพยากรบุคคล ด้วยการเสริมและพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในอนาคต รวมถึงเน้นย้ำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกระบวนการทำงานและการดำเนินธุรกิจ โดยยึดมั่นธรรมาภิบาล คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสังคม ด้วยเชื่อมั่นว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับองค์กรให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ภายใน 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง
สำหรับแผนการลงทุนในปี พ.ศ.2567 ได้จัดสรรงบการลงทุนไว้ที่ 15,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าปี พ.ศ. 2567-2573 ให้เพิ่มขึ้นปีละ 700 เมกะวัตต์ ตามเป้าการดำเนินธุรกิจตามแผนลงทุนเชื้อเพลิงหลักในประเทศ 70% เน้นก๊าซธรรมชาติที่ยังได้รับการยอมรับในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด และตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 30% ในปี พ.ศ.2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 26% ซึ่งจะเน้นขยายการลงทุนในประเทศที่มีฐานลงทุนอยู่แล้ว ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สปป.ลาว และ ฟิลิปปินส์ โดยในไตรมาส 1 ปี พ.ศ.2567ที่ผ่านมา ราช กรุ๊ป อยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศประมาณ 6 ดีล หรือประมาณ 10 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตประมาณ 550 เมกกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาหลายโครงการ ซึ่งคาดว่า 6 ดีล แบ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นเชื้อเพลิงหลัก 1 ดีล และเป็นโครงการพลังงานหมุนเวียน 5 ดีล หรือกว่า 10 โครงการ กำลังการผลิตรวมประมาณ 550 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ภายในช่วงที่เหลือของปี พ.ศ.2567นี้
นิทัศน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ราช กรุ๊ป มีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง 1,809.96 เมกะวัตต์ คิดเป็น 17% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นที่ลงทุนแล้วรวม 10,817.96 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 9,007.29 เมกะวัตต์ คิดเป็น 83% แบ่งเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ลงทุนในต่างประเทศ 5,342.95 เมกะวัตต์ คิดเป็น 49% และลงทุนในไทย 5,474.30 เมกะวัตต์ คิดเป็น 51% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นที่ลงทุน
ด้านการลงทุนนั้น ราช กรุ๊ป ได้ติดตามแผนการพัฒนากำลังไฟฟ้าและเป้าหมายของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดเป้าหมายการลงทุน พิจารณาโครงการที่เป็นแกนหลักของ ราช กรุ๊ป พิจารณาพันธมิตรอื่นๆที่จะเข้ามาร่วมลงทุน และจัดสัดส่วนการถือหุ้นที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยง นอกจากการลงทุนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มแล้ว การบริหารสินทรัพย์และการเงินก็ได้วางแนวทางที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้ให้มีความสม่ำเสมอและรักษาผลตอบแทนการลงทุนให้กับ ราช กรุ๊ป รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียในระดับที่สมเหตุสมผล สินทรัพย์โรงไฟฟ้าทั้งประเภทเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทนถือเป็นแหล่งรายได้หลักของ ราช กรุ๊ป ซึ่งอยู่ในประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในการบริหารสินทรัพย์จะเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการติดตามการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงให้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ด้านการเงินจะให้ความสำคัญกับการจัดหาแหล่งเงินทุนรองรับการขยายธุรกิจของ ราช กรุ๊ป ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจใหม่ ตลอดจนการบริหารต้นทุน สภาพคล่อง และผลตอบแทบสำหรับผู้ถือหุ้น ที่สำคัญ ราช กรุ๊ปจะมุ่งพัฒนาศักยภาพความสามารถของพนักงานโดยการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมทั้งสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล แก่พนักงานและบริษัทในเครือรอบด้าน
นิทัศน์ กล่าวถึงแนวโน้มและการคาดการณ์ผลการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 2 ของปี พ.ศ.2567 ว่า ราช กรุ๊ป จะมีผลประกอบการจากการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น จากไตรมาสที 1 ของ ปี พ.ศ. 2567 ผลประกอบการจะเติบโตขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากโรงไฟฟ้าหงสาที่กลับมาเดือนเครื่องการผลิตหลังมีบางยูนิตปิดซ่อมบำรุงในไตรมาส 1 ของปี พ.ศ.2567ที่ผ่านมา และบริษัทฯ ยังรับรู้รายได้จากเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Paiton Energy ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะเริ่มรับรู้รายได้ช่วงเดือนพฤษภาคม- มิถุนายน พ.ศ.2567 เป็นต้นไป