พัฒนาไทยให้ไร้ขยะ ด้วยการลด- เลือกใช้วัสดุทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว


สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) พร้อมด้วย กรมควบคุมมลพิษ และองค์กรความร่วมมือต่าง ๆ ร่วมกับ ศูนย์ความรู้ระดับภูมิภาคเกี่ยวกับขยะพลาสติกทะเล (RKC-MPD) หน่วยงานภายใต้สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) จัดงานสัมมนาการพัฒนาสู่ประเทศไทยไร้ขยะ: การลดและเลือกใช้วัสดุทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและสร้างจิตสำนึกต่อปัญหาขยะพลาสติก รวมถึงแลกเปลี่ยนและแบ่งปันแนวปฏิบัติการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

งานสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน จากกว่า 10 ประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนา

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเกือบ 25 ล้านตัน แม้ว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 32 แต่ยังมีขยะส่วนหนึ่งที่กำจัดอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะขยะพลาสติก ประเทศไทยจึงต้องเร่งปฏิบัติการตาม Roadmap และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563-2565 ที่มีเป้าหมายในการลดพลาสติกเป้าหมายตั้งแต่การผลิต การบริโภค และหลังการบริโภค ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน แม้ในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายที่ชัดเจน แต่ภาครัฐยังเดินหน้าให้ข้อมูลและกระตุ้นประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อลดการใช้พลาสติก ส่งเสริมออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก

ด้านดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า พลาสติกเป็นวัสดุที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน แต่พลาสติกหลังการใช้งานได้หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่พบในทะเลและชายหาดมากกว่าขยะอื่น การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ซึ่งมีแผนปฏิบัติการในช่วง ปี พ.ศ. 2564-2570 ก็จะช่วยส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนในทุกระดับ ซึ่งสอดคล้องกับ Roadmap จัดการขยะพลาสติกของประเทศ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและง่ายต่อหมุนเวียน ผลักดันบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เป็นบรรจุภัณฑ์ทางเลือก และสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

สมจิตต์ นิลถนอม ผู้จัดการโครงการ AEPW-Thai PPP Rayong กลุ่ม PPP Plastics กล่าวว่า กลุ่มPPP Plastics เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติกในประเทศไทย และลดการหลุดรอดของพลาสติกสู่ทะเล โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร คือ ระยองโมเดล ที่มีเทศบาลเข้าร่วม 68 แห่ง ขณะที่พื้นที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นเกาะในฝั่งทะเลอันดามัน ก็เริ่มมีปฏิบัติการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว อย่างกรณี ร้าน Sri The Shophouse ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งบิว คิม เจ้าของร้าน เล่าให้ฟังว่าตั้งแต่เปิดร้านเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทางร้านไม่ได้ใช้ภาชนะพลาสติกเนื่องจากหาซื้อภาชนะทางเลือกได้ง่ายและราคาใกล้เคียงกับภาชนะพลาสติก เช่นเดียวกับหลายร้านในย่านเมืองเก่าภูเก็ต แต่ก็ยังต้องการหาภาชนะทางเลือกมาใช้แทนถุงร้อนซึ่งยังใช้อยู่ แม้จะใช้ไม่มากก็ตาม

ทั้งนี้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งในโครงการ CAP-SEA ขององค์กร GIZ ในเรื่องนี้นภาพร อยู่เบิก ที่ปรึกษาและผู้ประสานงานโครงการ GIZ กล่าวว่า ปัจจุบัน GIZ ได้ร่วมกับหน่วยงานจากหลายภาคส่วน นำร่องเพื่อลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในภูเก็ต การหาทางเลือกในการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การใช้ภาชนะสำหรับการส่งอาหารแบบ Food delivery ที่นำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านธุรกิจสตาร์อัปและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีการติดเชื้อ COVID-19 เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันจากเอกสารและรายงานเกิดขึ้น

ในส่วนของภาคเอกชน นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อแบรนด์ “grace” กล่าวถึงอันตรายจากภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ว่ามีผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและก่อให้เกิดปัญหาขยะที่ย่อยสลายยาก แล้วยังต้องสูญเสียงบประมาณในการกำจัดขยะ ดังนั้น จึงมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ grace ซึ่งพัฒนาจากเยื่อพืชธรรมชาติ อาทิ เยื่อชานอ้อย เยื่อไผ่ ฟางข้าว และเยื่อพืชธรรมชาติอื่น ๆ กระทั่งมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งาน สะอาด ปลอดภัย และไม่สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อม ในทำนองเดียวกัน บริษัทเอกชนเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากขึ้น

“เราคิดจากธรรมชาติให้เป็น Bio Base เพื่อกลับคืนสู่ธรรมชาติ เอามา 100 เปอร์เซ็นต์ ก็นำกลับไป 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เป็น Green Economy ครบวงจรทั้ง BCG Model” นายแพทย์วีรฉัตร กล่าว

Mr. Susawee Ondam ผู้จัดการอาวุโส บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามหลักการความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) โดยมีการรวมตัวกันเพื่อรวบรวมขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ พัฒนาต้นแบบการเก็บขนขยะที่ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย พัฒนานวัตกรรมการรีไซเคิลและนวัตกรรมในการลดขยะ โดยยึดหลักการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจนถึงการจำหน่าย และการสร้างความร่วมมือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

Mr. Michikazu Kojima นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ RKC-MPD ERIA กล่าวย้ำถึงบทบาทของภาคเอกชนในการลดปัญหาขยะพลาสติก ว่าเอกชนมีศักยภาพในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นอกเหนือจากการลดมลภาวะจากพลาสติก ซึ่งบริษัทเพียงบริษัทเดียวไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจทั้งหมดได้

ขณะเดียวกันภาคเอกชนยังคงต้องการข้อมูล เช่น เทคโนโลยี วัตถุดิบ อุปกรณ์ และการขยายลูกค้าของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ERIA จึงได้พัฒนาเว็บไซต์สำหรับบริษัทเอกชนเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีขึ้น และสร้างพันธมิตรเพื่อความยั่งยืน

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save