เรา (ประเทศไทย) พร้อมหรือไม่ที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล (SMR) เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต?


แหล่งพลังงานสะอาดสำหรับการผลิตไฟฟ้า

ด้วยปัญหาด้านพลังงานของประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเกิดจากสาเหตุหลายประการ หนึ่งในนั้นคือความผันผวนของราคาแก๊สธรรมชาติตามตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ประกอบกับการก้าวเข้าสู่ “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition)” หรือการมุ่งเปลี่ยนรูปแบบการผลิตพลังงาน จากเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน หรือน้ำมัน เป็นต้น) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ มาสู่การใช้ “แหล่งพลังงานสะอาด” ได้แก่ เซลล์แสงอาทิตย์ ลม น้ำ และนิวเคลียร์ ซึ่งการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดเหล่านี้ หากพิจารณาทั้งวัฏจักรแล้ว พบว่ามีการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณที่น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตพลังงานโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ตาม “แหล่งพลังงานสะอาด” ข้างต้นต่างมีข้อดีข้อเสียสำหรับการผลิตไฟฟ้าแตกต่างกัน ดังนี้ (1) เซลล์แสงอาทิตย์ ยังคงขาดเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลากลางคืนหรือมืดครึ้ม จึงจำเป็นต้องใช้แบตเตอรีในการเก็บสำรองประจุไฟฟ้า ซึ่งหลังจากหมดอายุการใช้งานแบตเตอรีดังกล่าวจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในที่สุด (2) ลม ยังคงขาดเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าเช่นเดียวกันกับเซลล์แสงอาทิตย์ เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมให้เกิดลมได้ตลอดเวลา (3) น้ำ จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน กรณีที่พบได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากระบบนิเวศป่าไม้ธรรมชาติมาเป็นเขื่อน ส่งผลทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศธรรมชาติ รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย (4) นิวเคลียร์ ได้รับการขนานนามว่าเป็นเทคโนโลยีที่ปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิออกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ (net zero carbon emission) อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญของเทคโนโลยีนี้ก็คือ “กากกัมมันตรังสี (radioactive waste)” ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยวิธีการจัดการเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการรั่วไหลของกากกัมมันตรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” เป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์เรื่องการลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี แม้จะมีข้อเสียเรื่องกากกัมมันตรังสี แต่ก็ได้มีการกำหนดมาตรการการจัดการกากกัมมันตรังสีอย่างชัดเจนเป็นมาตรฐานสากลและบังคับใช้อย่างเคร่งครัดโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่กำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพด้วยความปลอดภัยสูงสุด

แนวคิดเบื้องต้นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

องค์ประกอบ (ภาพที่ 1) และหลักการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความคล้ายคลึงกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแบบดั้งเดิม แตกต่างกันที่แหล่งพลังงานความร้อนสำหรับทำให้น้ำร้อนขึ้นและเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอน้ำร้อนเพื่อไปหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งแหล่งพลังงานความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน (nuclear fission) ทำให้ไอโซโทปกัมมันตรังสีที่สามารถแตกตัวได้ (โดยมากที่นิยมใช้คือยูเรเนียม-235 หรือพลูโทเนียม-239) เกิดการแตกตัว แล้วคายพลังงานความร้อนออกมาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน โดยพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจากการแตกตัวของยูเรเนียม-235 ปริมาณเพียง 1 กรัมเทียบเท่ากับพลังงานความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินปริมาณมากถึง 3,000 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ภาพที่ 1: แบบจำลองสามมิติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 5 ส่วน ได้แก่ (1) กังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (2) ระบบป้องกันความปลอดภัยอัตโนมัติเชิงรับ (passive safety features) ซึ่งควบคุมให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หยุดการทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (3) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (reactor) ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันและถ่ายเทความร้อนหรือระบายความร้อนทำให้เกิดการเปลี่ยนสถานะของน้ำหล่อเย็นกลายเป็นไอน้ำร้อน (4) หอคอยระบายความร้อน (cooling tower) เปลี่ยนสถานะของไอน้ำให้กลับมาเป็นของเหลว และหมุนเวียนกลับไปรับพลังงานความร้อนจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่อีกครั้ง และ (5) ห้องควบคุมการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ที่มาของภาพ: https://www.nuclear-power.com/nuclear-power-plant และดูรายละเอียดของภาพเพิ่มเติมได้ที่: https://sketchfab.com/3d-models/cattenom-3d-nuclear-power-plant-eeed3c79649640b3a370546e9fea53ff)

พัฒนาการของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของโลกได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ได้มีพัฒนาการต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้พัฒนาการของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พิจารณาจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (reactor) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 รุ่น ดังนี้

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นที่ I เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1950–1960 ซึ่งเป็นยุคแรกของการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นนี้มีระบบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการทำงานอยู่ในระดับพื้นฐาน อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อจำกัดด้านการจัดการกากกัมมันตรังสีและความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นหลัง

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นที่ II เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1960–1990 โดยได้รับการพัฒนาเทคโนโลยี และระบบควบคุมการทำงานต่าง ๆ รวมทั้งระบบความปลอดภัยและระบบการจัดการกากกัมมันตรังสีก็ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นที่ I

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นที่ III เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 (ปี 1990–2000) โดยมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีและความปลอดภัยสูงขึ้นกว่าเดิม โดยมีระบบความร้อนและระบบควบคุมการทำงานที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น เป้าหมายของการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นที่ III นี้คือการลดความเสี่ยงจากการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นที่ IV เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ได้รับการพัฒนาล่าสุด โดยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ให้สูงขึ้นและเกิดกากกัมมันตรังสีในปริมาณที่ลดลง นอกจากนี้ในการออกแบบและสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นที่ IV ยังมีการพิจารณาถึงความคุ้มทุนในด้านต่าง ๆ อีกด้วย เช่น การลดต้นทุนการก่อสร้างและการดำเนินระบบ การเพิ่มผลประกอบการทางเศรษฐกิจ (ผลกำไร) จากการดำเนินระบบ เป็นต้น

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล (SMR)

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล (Small Modular Reactor หรือ SMR) เป็นระบบพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กและแยกส่วนเป็นหน่วยย่อยที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างอิสระภายในหน่วยย่อยเดียว โดยไม่ได้ขึ้นกับหน่วยย่อยอื่น ๆ แต่อย่างใด จนถึงขณะนี้ (สิงหาคม 2566) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ที่สามารถเดินเครื่องได้แล้วมีเพียง 2 เครื่องเท่านั้น โดยเครื่องแรกอยู่ในประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นที่ III ประเภทใช้น้ำความดันสูง (pressurized water reactor หรือ PWR) ภาคพื้นทะเล (marine-based) และอีกเครื่องหนึ่งอยู่ในประเทศจีน (ภาพที่ 2) ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นที่ IV ประเภทระบายความร้อนด้วยแก๊สอุณหภูมิสูง (high temperature gas cooled reactor หรือ HTGR) ภาคพื้นดิน (land-based) ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR นี้เป็นอย่างมาก โดยได้มีการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ SMR มากถึง 80 รุ่น (สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ที่ยังไม่ได้เดินเครื่องจะใช้ลักษณนาม คือ “รุ่น” หรือ “โมเดล” ไม่ได้ลักษณนามว่า “เครื่อง”) ทั้งนี้เนื่องมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR มีข้อได้เปรียบหลายประการ เมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิม ได้แก่

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ของบริษัท China Huaneng Group ตั้งอยู่ที่อ่าว Shidao มณฑลชานตงของประเทศจีน

ภาพที่ 2: โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ของบริษัท China Huaneng Group ตั้งอยู่ที่อ่าว Shidao มณฑลชานตงของประเทศจีน (ที่มาของภาพ: https://interestingengineering.com/science/the-worlds-first-small-modular-nuclear-reactor-is-sending-power-to-the-grid)

  • ขนาดเล็ก: ขนาดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SRM เล็กกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิมอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR สามารถทำได้ในหลากหลายพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลและทุรกันการ
  • ต้นทุนในการก่อสร้างต่ำ: ด้วยโครงสร้างและอาคารต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR มีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิม จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่ต่ำกว่า
  • การทำงานแบบโมดูล: ด้วยลักษณะการทำงานเป็นโมดูล (หน่วยย่อยอิสระ) ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ทำให้สามารถแยกผลิตเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (ซึ่งมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิม) จากสถานที่อื่น แล้วทำการขนย้ายมาติดตั้งที่โรงไฟฟ้าในภายหลังได้ (ด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิมมีขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการขนย้าย หากสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จากสถานที่อื่น ด้วยเหตุนี้การก่อสร้างหรือประกอบชิ้นส่วนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิมจึงจำเป็นต้องทำที่โรงไฟฟ้านั่นเอง) ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ช่วยร่นระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ให้สั้นลงได้นั่นเอง
  • ลดปริมาณการเกิดกากกัมมันตรังสี: ด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR มีขนาดเล็ก แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจึงมีขนาดเล็กตามไปด้วย ส่งผลทำให้กากกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นมีปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้แท่งเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิม นอกจากนี้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR บางรุ่น ยังได้ออกแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบเกลือหลอมเหลว (molten salt reactor) ด้วยการใช้ระบบสารหล่อเย็นหรือการผสมเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เป็นเกลือคลอไรด์หรือฟลูออไรด์หลอมเหลวแทน โดยสถานะของเกลือหลอมเหลวนี้สามารถดูดซับกากกัมมันรังสีที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันได้ดี ซึ่งเป็นประโยชน์ด้านความปลอดภัยด้วยการลดโอกาสการปนเปื้อนของกากกัมมันตรังสีได้อีกทางหนึ่งด้วย
  • ระบบรักษาความปลอดภัย: การออกแบบก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR หลายแห่งได้มีการออกแบบและวางระบบรักษาความปลอยภัยอัตโนมัติเชิงรับ (passive safety features) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยลดระดับความรุนแรงของความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR หลายรุ่นถูกออกแบบให้สามารถปิดระบบตัวเองได้โดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อีกทั้งยังสามารถควบคุมอุณหภูมิให้เย็นลง (cool down) ได้เองอีกด้วย
  • ความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้าร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ: โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบโมดูลนอกจากมีขนาดเล็กแล้ว ระบบการทำงานต่าง ๆ ยังได้รับการออกแบบให้มีความสลับซับซ้อนน้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความยืดหยุ่นสูงด้านการใช้งานร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) รูปแบบอื่น ๆ เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ ลม และน้ำ เป็นต้น
  • ลดการปลดปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ (decarbonization): การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ยังคงปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิออกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ดังเช่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิม แต่เนื่องด้วยข้อได้เปรียบหลายประการข้างต้น จึงทำให้การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR มีความยืดหยุ่นสูง ทั้งด้านการก่อสร้างและการใช้งาน

นอกจากประเทศจีนและรัสเซียแล้ว โรงไฟฟ้า SMR ก็ได้รับความสนใจจากอีกหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเติบโตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR อย่างรวดเร็ว โดยสะท้อนให้เห็นได้จากโครงการ NuScale Power (ภาพที่ 2) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานความปลอดภัยและการส่งเสริมการใช้พลังงาน (Nuclear Regulatory Commission) เมื่อปี 2020 นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ให้ความสนใจต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR โดยปรากฏโครงการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR เช่น แคนาดา (โครงการ Small Modular Reactor-Atomic Energy of Canada Limited หรือ SMR-AECL และโครงการ Terrestrial Energy) และสวีเดน (โครงการ Oskarshamn 3 ของบริษัท Vattenfall) เป็นต้น ทั้งนี้บางประเทศได้กำหนดแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR หรือกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดแผน เช่น สวิสเซอร์แลนด์ รัสเซีย และอาเซอร์ไบจาน เป็นต้น ในขณะเดียวกันบางประเทศก็มีท่าทีแสดงความสนใจต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR อีกด้วย เช่น อาร์เจนตินา และแอฟริกาใต้ เป็นต้น

ภาพที่ 3: (A) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล NuScale ประเทศสหรัฐอเมริกา (B) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล NuScale 1 โมดูล (หน่วยย่อย) (ที่มาของภาพ: Mays, G. 2020. Small modular reactors (SMRs): the case of the United States of America. In: Ingersoll, D. T. and Carelli, M. D. (Eds.), Handbook of Small Modular Nuclear Reactors. 2nd Edition. pp. 521–553. A volume in Woodhead Publishing Series in Energy)

ข้อจำกัดสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด หากแต่ด้วยข้อจำกัดบางประการ จึงทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ข้อจำกัดเหล่านี้ ได้แก่ (1) ความคิดเห็นของประชาชน ประเด็นเรื่อง “ความปลอดภัย” ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมถึง “มาตรการป้องกันและจัดการ” เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับการถกเถียงและต่อต้านจากคนในสังคมเป็นวงกว้าง (2) แหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบอื่น ประเทศไทยยังคงสนับสนุนการใช้แหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบอื่นในการผลิตไฟฟ้า อันได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังลม รวมถึงพลังน้ำ (3) ต้นทุนและความเสี่ยงในการก่อสร้าง แม้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR จะมีความยืดหยุ่นสูงและมีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ แต่การตัดสินใจลงทุนก็ยังจำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถึงความเสี่ยงในการลงทุนและผลกำไรที่จะได้รับหลังจากการก่อสร้างและเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้า และ (4) นโยบายและข้อกฎหมาย ที่ไม่อำนวยหรือส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

บทสรุป

ในอนาคตหากประเทศไทยต้องการให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า ประกอบกับสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านพลังงานและปัญหาด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR” นับได้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมหาศาล อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดและข้อกังวลตามบริบทของสังคมไทยยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ซึ่งในที่สุดแล้วเราจำเป็นต้องพินิจพิจารณาชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อนาคต จึงเป็นประเด็นท้าทายสำหรับพวกเราในขณะนี้นั่นก็คือ “เราพร้อมหรือไม่ที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต?”


โดย

ดร.วุฒิวงศ์ วิมลศักดิ์เจริญ  ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณี แสงแก้ว

ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายใต้โครงการ “การสร้างการรับรู้และความตระหนักรู้ในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน”

เอกสารอ้างอิงหลัก

วิทิต เกษคุปต์ และคณะ. ไม่ปรากฏปีที่ตีพิมพ์เผยแพร่. กว่าจะมาเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์.
เผยแพร่ออนไลน์: https://www.nst.or.th/jnal/nst-book-npp-1.pdf. สืบค้นเมื่อเมษายน 2566.


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save