กระทรวงพลังงาน เดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรชาวประมง และกลุ่มอนุรักษ์สัตว์น้ำ จ.สงขลา ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตออกซิเจนเพื่ออนุบาลสัตว์น้ำ ลดปัญหาไฟฟ้าตก-ดับ มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง และเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูได้มากขึ้น
13 พ.ย. 2567 – นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน และนายจักรพันธ์ กิ่งแก้ว พลังงานจังหวัดสงขลา ได้พาคณะสื่อมวลชน
เยี่ยมชมโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับธนาคารปู จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานเอกชน โดยครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชม กลุ่มอนุรักษ์เพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำ กลุ่มพังสาย ต.กระดังงา อ.สทิงพระ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน
ที่ผ่านมา ปูม้าที่มีไข่นอกกระดองที่ถูกจับโดยชาวประมงจะถูกขายเป็นปูเนื้อ ส่วนไข่นอกกระดองจะถูกตัดทิ้งไป ทำให้โอกาสในการขยายพันธุ์ของปูม้าลดลง โดยแม่ปู 1 ตัว สามารถมีไข่ได้ตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1 ล้านฟอง และมีโอกาสรอดชีวิตไปเป็นตัวเต็มวัยได้ร้อยละ 10 ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าและพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับชุมชน ชาวประมงในพื้นที่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่ง และริเริ่มจัดทำโครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อวางกลไกการอนุรักษ์สัตว์น้ำโดยรับจำนำปูที่มีไข่นอกกระดอง มาอนุบาลในบ่ออนุบาลและเพาะฟักออกเป็นลูกปู สามารถนำไปปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติได้ เพื่อให้การประมงในพื้นที่เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งในการอนุบาลปูม้า จะต้องสูบน้ำทะเลขึ้นมาใช้ในบ่ออนุบาล และต้องเติมออกซิเจนในบ่อตลอดเวลา ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานหลักในการผลิตออกซิเจน ที่ผ่านมาพบปัญหากระแสไฟฟ้าตก-ดับบ่อย ส่งผลให้ไม่สามารถเติมออกซิเจนในบ่ออนุบาลได้ตลอดเวลา และทำให้ลูกปูมีอัตราการรอดชีวิตน้อย
กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดสงขลา ได้เห็นถึงสภาพปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ผลิตออกซิเจนในการอนุบาลสัตว์น้ำ ขนาดไม่ต่ำกว่า 2.4 Kw (กิโลวัตต์) และระบบกักเก็บพลังงาน ขนาด 5 KWh (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยแก้ปัญหากระแสไฟฟ้าตกหรือดับ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกปูได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้สนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับกลุ่มชาวประมงและกลุ่มอนุรักษ์สัตว์น้ำในจังหวัดสงขลารวมจำนวน 9 แห่ง ได้แก่
- ศูนย์เพาะฟักลูกปูกลุ่มปากบางเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา
- กลุ่มธนาคารปูบ้านพังสาย ต.กระดังงา อ.สทิงพระ
- ศูนย์เพาะฟักลูกปูม้าบ้านพังเค็ม ต.วัดสน อ.ระโนด
- กลุ่มประมงอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามและพัฒนาชายฝั่ง ม.6 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์
- กลุ่มเขตฟาร์มทะเลและอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ม.8 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์
- กลุ่มธนาคารปูบ้านหัวคุ้ง ม.5 ต.ท่าบอน อ.ระโนด
- กลุ่มธนาคารปูม้าชุมชนบ้านท่าเข็น ม.1 ต.คลองแดน อ.ระโนด
- กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงบ้านม่วงพุ่ม ม.8 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร
- กลุ่มธนาคารปูม้าบ้านชุมพล ต.ชุมพล อ.สทิงพระ
โดยนายหมาน จันทร์ลิหมัด หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์เพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำ กลุ่มพังสาย กล่าวว่า ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดค่าใช้จ่าย จากปกติเสียค่าไฟฟ้า เดือนละประมาณ 1,800 – 1,900 บาท เหลือเพียงเดือนละประมาณ 800 – 900 บาท ทำให้ต้นทุนในการเพาะฟักลูกปูลดน้อยลง อีกทั้งยังสามารถลดปัญหาไฟตกไฟดับ นอกจากนั้น ระบบผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งยังสามารถใช้ประโยชน์สำหรับการชาร์จไฟรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และเป็นศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำสำคัญของจังหวัดสงขลาอีกด้วย
“กลุ่มพังสายเป็นต้นแบบที่ดีของการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ที่มุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการอนุรักษ์และอนุบาลสัตวน้ำในท้องถิ่น อย่างปูม้า และขยายผลไปถึงสัตว์ทะเลต่าง ๆ อย่าง กุ้ง หมึก หอย โดยได้รับความร่วมมือและการบูรณาการจากหลายภาคส่วน ทั้งท้องถิ่นที่มีความตั้งใจขับเคลื่อนกลุ่มให้มีความยั่งยืน สร้างความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น ภาคเอกชนที่สนับสนุนโครงสร้าง อุปกรณ์ เครื่องมือจำเป็นต่างๆ ภาคการศึกษา ช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ให้ชุมชน และเข้ามาสนับสนุนการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ และภาครัฐที่ช่วยผลักดัน สนับสนุนให้กลุ่มเข้าถึงงบประมาณและเครื่องมือต่างๆ ในส่วนของกระทรวงพลังงานได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของกลุ่มในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน รวมถึงเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายวีรพัฒน์ กล่าว
ที่มา: กระทรวงพลังงาน