ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยความพร้อมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมที่เกี่ยวข้อง หรือ การประชุม SOME ครั้งที่ 37 ในระหว่างวันที่ 24-28 มิ.ย. นี้ จะเป็นการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่จะเริ่มขึ้นวันที่ 2-6 ก.ย. ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยจะมีการลงนามขยายกรอบการซื้อขายไฟฟ้าของ 3 ประเทศ คือ ลาว ไทย มาเลเซีย จากเดิม 100 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นเป็น 300 เมกะวัตต์ เนื่องจากมาเลเซียมีความต้องการไฟฟ้าจากลาวมากขึ้น โดยไทยจะเป็นจุดเชื่อมต่อการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมทั้งสั่งการไฟฟ้าฯ เร่งลงทุนแผนสายส่ง รองรับไทยเป็นจุดเชื่อมโยงอาเซียน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง ความพร้อมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมเกี่ยวข้อง (SOME) ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 24-28 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมอนันตรา กรุงเทพฯ ว่าการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 2-6 กันยายนนี้ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ
โดยการประชุมในครั้งนี้จะมีการหารือในการลงนามขยายกรอบพหุภาคีการซื้อขายไฟฟ้าในโครงการซื้อขายไฟฟ้า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM on power Integration Project) จากกรอบเดิมเมื่อปี 2560-2561 ซึ่งได้ลงนามตกลงซื้อขายกันที่ 100 เมกะวัตต์ (MW) จะขยายกรอบเพิ่มขึ้นเป็น 300 เมกะวัตต์ เนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความต้องการไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มากขึ้น โดยไทยจะเป็นจุดเชื่อมต่อการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างสองประเทศดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการขยายกรอบซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความพร้อมด้านสายส่ง ดังนั้นจึงสั่งการให้ 3 การไฟฟ้าฯ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพสายส่ง เพื่อพัฒนาขยายสายส่งไฟฟ้าให้รองรับการซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต ด้วยการเพิ่มขนาดสายส่งจากปัจจุบัน 115 KV เป็น 500-800 KV
นอกจากนี้การประชุมในครั้งนี้จะมีการรายงานประเด็นด้านพลังงาน ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ และเป็นผู้นำในการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2562 (Piority Deliverables) จำนวน 4 ด้าน 9 ประเด็น ซึ่งได้แก่
1. ด้านไฟฟ้า ประกอบด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคี 3 ประเทศดังกล่าว และการจัดทำข้อเสนอแนะด้านการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายอาเซียน (RE Integration to grid) ร่วมกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีอาเซียน
2. ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ประกอบด้วย การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นในตลาดอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (Lab Test) สำหรับทดสอบประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาสในครัวเรือน และการศึกษามาตรการด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนโครงการรใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน
3. ด้านพลังงานทดแทน ประกอบด้วย การลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียน และสถาบันพันธมิตรของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพอาเซียน และการรายงาน กรณีศึกษาห่วงโซ่อุปทานพลังงานชีวมวลสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย เพื่อนำไปขยายผลปรับใช้ในพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกันในอาเซียน และ
4. ด้านก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย การจัดทำข้อเสนอแนะ เรื่อง การศึกษาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติ (Small-scale LNG) ภายใต้ผลการศึกษา Gas Advocacy White Paper