“SPCG” จับมือ “PEA ENCOM” ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดตั้งบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ลุยศึกษาโซลาร์ฟาร์ม 500 เมกะวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ในพื้นที่ EEC เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้สอดคล้องตามมติ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดมิติใหม่ในพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่พลังงานสะอาดอัจฉริยะ Smart Energy เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ Low Carbon Society คาดใช้เงินลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท โดยเฟสแรกจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 300 เมกะวัตต์ จะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3/2564 หลังจากนั้นจะดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์มเพิ่มเติมให้ครบ 500 เมกะวัตต์ในปี 2569
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ คุณเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (PEA ENCOM) และบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน เพื่อศึกษา พัฒนา วิจัย และลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน สําหรับโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และ พลังงานสํารอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ อาคาร LED การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สำนักงานใหญ่)
โดยการร่วมมือครั้งนี้เพื่อร่วมกัน ศึกษา วิจัย พัฒนา และลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน สำหรับการใช้งานจริงในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ ซึ่งจะทำให้ได้ผลการทดสอบ ข้อมูล และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการดำเนินโครงการ และสามารถนำมาปรับปรุงระบบให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพทั้งยังผลักดันต้นแบบระบบกักเก็บพลังงานเพื่อให้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนสามารถใช้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนและสามารถดำเนินในการเชิงพาณิชย์ต่อไป
ดร.วันดี กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการร่วมกัน ศึกษา วิจัย พัฒนา และลงทุนระบบกักเก็บพลังงานครั้งนี้เพื่อเป็นการบริหารจัดการพลังงาน สําหรับโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสํารอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งในพื้นที่ส่วนขยายในระยะต่อๆ ไป ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานเชิงพาณิชย์ในอนาคตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้บริษัทฯ มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือในการศึกษา วิจัย พัฒนา และลงทุนระบบกักเก็บพลังงานครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดพลังงานหมุนเวียนและเสาะหาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนให้พื้นที่ EEC ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เป็นเมืองพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นพลังงานสะอาด และพลังงานสํารอง จากระบบกักเก็บพลังงาน สอดคล้องกับบริบทโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดภาวะโลกร้อน