บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เปิดบ้านต้อนรับสื่อมวลชน เยี่ยมชมโรงกลั่นน้ำมันในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลังซื้อกิจการสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ เมื่อต้นปี 2567 ช่วยเพิ่มโอกาสธุรกิจให้ SPRC ครบห่วงโซ่ โรงกลั่นน้ำมันและจำหน่ายผ่านปั๊มคาลเท็กซ์ ที่ปัจจุบันมีอยู่ 528 สถานี คาดอีก 5 ปีข้างหน้าเพิ่มเป็น 800 สถานี พร้อมเผยการดำเนินธุรกิจกว่า 32 ปีที่ผ่านมาในไทย เติบได้ด้วยวิสัยทัศน์ “ครอบครัวแห่งความห่วงใย ร่วมสร้างพลังเพื่อขับเคลื่อนอนาคตของเรา” เดินหน้าพัฒนาองค์กรสู่ผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งมุ่งสร้างมั่นคงทางพลังงานควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าสนับสนุนเป้าหมายการลดปริมาณความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอน และเป้าหมาย “Net Zero” ของประเทศ ในปี พ.ศ. 2608
เชาวศรี เหลืองรัตนากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์ นโยบาย และพัฒนาธุรกิจบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) กล่าวว่า กว่า 32 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ดำเนินกลยุทธ์เพื่อการเติบโตเคียงคู่ไปกับประเทศไทย โดยได้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน (Complex Crude Oil Refinery) ซึ่งถือว่าเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยธุรกิจหลักยังคงเป็นการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งปัจจุบัน SPRC มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 175,000 บาร์เรลต่อวัน ควบคู่กับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมคุณภาพสูงหลากหลายประเภท สำหรับใช้ภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ SPRC มีหลากหลายชนิด อาทิ โพรพิลีนเกรดโพลีเมอร์ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตา และยางมะตอย เป็นต้น
เมื่อต้นปี 2567 นี้ SPRC ได้เข้าซื้อธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ภายใต้แบรนด์ “คาลเท็กซ์” ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 75 ปี การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ช่วยเสริมสร้างโอกาสการเติบโตให้ SPRC อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับการขยายธุรกิจเชิงกลยุทธ์ด้านห่วงโซ่ และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น รวมทั้งช่วยสร้างความมั่นคงพลังงานในประเทศและระดับภูมิภาคเอเชีย
การซื้อกิจการสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมธุรกิจ SPRC ที่แต่เดิมเป็นเพียงผู้กลั่นน้ำมันออกจำหน่าย ซึ่งบางครั้งอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศอย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อมีสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์มาอยู่ห่วงโซ่ธุรกิจ นอกจากจะช่วยให้ทราบข้อมูลชัดเจนในด้านความต้องการใช้น้ำมันของประชาชนแล้ว ยังเป็นช่องทางให้ SPRC ได้จำหน่ายน้ำมันถึงมือประชาชนโดยตรงด้วย
เชาวศรี กล่าวถึงกรณีภาครัฐมีนโยบายศึกษาการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ว่า เชื่อว่านโยบาย SPR ของภาครัฐ เกิดจากความต้องการรักษาความมั่นคงพลังงานให้ประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภาวะสงครามในต่างประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันของโลก และอาจเป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันได้
“การสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์นั้นมองเป็นเรื่องสำคัญและจะมีผลเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตน้ำมันด้วย ดังนั้นคงต้องรอความชัดเจนในรายละเอียดก่อนว่า ใครจะเป็นผู้จัดเก็บสำรองน้ำมัน หรือมีการแบ่งสัดส่วนการสำรองน้ำมันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างไร ขณะที่ปัจจุบันภาครัฐเองก็ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลออกมาทั้งหมด ทั้งนี้เชื่อว่าก่อนนโยบายดังกล่าวจะออกมา ทางภาครัฐคงต้องหารือกับผู้ค้าน้ำมันก่อน หรืออาจจะต้องมาศึกษาร่วมกันเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันในทางปฏิบัติ เบื้องต้นปัญหาสำคัญที่ต้องคำนึงถึงหากต้องการให้เอกชนสำรองน้ำมันร่วมกับภาครัฐคือ ปัญหาด้านพื้นที่สร้างคลังจัดเก็บสำรองน้ำมัน โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ อาจไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะขยายคลังเก็บน้ำมันได้” เชาวศรี กล่าว
ปัจจุบัน SPRC ได้มีการสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมาย 6% ของการจำหน่าย หรือสำรองได้ 21 วัน ซึ่งในส่วนนี้ SPRC ไม่สามารถนำออกมาจำหน่ายได้ เนื่องจากต้องเก็บไว้ในกรณีฉุกเฉินที่ภาครัฐเห็นควรให้นำออกมาจำหน่ายได้เท่านั้น ขณะที่คลังเก็บน้ำมันของ SPRC ปัจจุบันมีถึง 7 คลัง หรือ4.2ล้านบาร์เรล ซึ่งสร้างขึ้นเต็มพื้นที่ของโรงกลั่นน้ำมันแล้ว หากต้องสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์อีกจะประสบปัญหาไม่มีพื้นที่เพียงพอในการก่อสร้างได้
“ดังนั้นนโยบายการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของภาครัฐ จำเป็นต้องหารือกับภาคเอกชนก่อนและอาจจะศึกษาข้อมูลร่วมกันก่อน ขณะนี้ภาคเอกชนยังไม่เห็นข้อมูลที่ชัดเจนจากภาครัฐแต่อย่างใด จึงต้องรอให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลออกมาก่อน จึงจะพิจารณาได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนอย่างไรต่อไป” เชาวศรี กล่าว
โครงการ “เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย” สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทุกมิติ
จากวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกในวงกว้างและกำลังขยายผลกระทบขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ “Net Zero” กลายเป็นหนึ่งในวาระระดับโลกที่หลายประเทศให้ความสำคัญ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) และ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ในฐานะบริษัทพลังงานระดับโลกที่มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ได้ตระหนักถึงความเร่งด่วนของปัญหา จึงเดินหน้าให้การสนับสนุนเป้าหมายการลดปริมาณความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนและเป้าหมาย “Net Zero” ของประเทศ ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065)
จังหวัดระยอง ในภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญ และเป็นจังหวัดที่มีป่าชายเลนแพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งค่อนข้างมาก โดยป่าชายเลน ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญทั้งทางด้านนิเวศวิทยา เนื่องจากสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ และช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบัน พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยสามารถดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละกว่า 9.4 ตันต่อไร่ (ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง: 2566) อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชายฝั่งทะเล เนื่องจากเป็นแนวป้องกันชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะพังทลาย และกำบังคลื่นพายุอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ป่าชายเลนนั้นมีอัตราลดลง รวมถึงสภาพป่าชายเลนบางพื้นที่นั้นยังขาดความอุดมสมบูรณ์
โครงการ “เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย” (Foster Future Forests) ซึ่งเป็นโครงการจากความร่วมมือของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) และบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด จัดทำขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการฟื้นฟูระบบนิเวศของพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาในบริเวณป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เพิ่มพื้นที่สีเขียวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมส่งเสริมการอนุรักษ์ผ่านชุมชนสู่ความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมไปจนถึงเศรษฐกิจในชุมชนตลอดการดำเนินงาน เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต เหล่านี้เป็นการตอกย้ำเป้าหมายของเชฟรอน และ SPRC ในพันธกิจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการ หรือ Environmental Footprint (รอยเท้าทางนิเวศ) เพื่อสร้างผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบพื้นที่ในระยะยาว
โครงการดังกล่าวมุ่งสนับสนุนการลดคาร์บอน และสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่ ดังนี้
- ฟื้นฟูระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลน ผ่านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมเพิ่มที่อยู่อาศัยให้สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable Species) ไปจนถึงผลพลอยได้สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดระยองผ่านธรรมชาติที่สวยงามเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอนาคต
- สร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งในชุมชน ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานในชุมชนอย่างใกล้ชิด อาทิ หน่วยงานภาครัฐจังหวัดระยอง โรงเรียน เยาวชน และกลุ่มผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงกับชุมชน พร้อมให้ความรู้และเสริมทักษะของชุมชนและเยาวชนเกี่ยวกับการลดคาร์บอน ผ่านความร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ โดยจะนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างอาชีพในอนาคตเพื่อเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตแก่ชุมชน ทั้งในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต
- ส่งเสริมด้านงานวิจัยผ่านการศึกษาและเรียนรู้จากธรรมชาติ (Nature-based learning) โดยติดตามและประเมินผลด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม พร้อมวางแผนดำเนินงาน รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานวิชาการเพื่อค้นคว้าวิจัย ศึกษา รวมถึงติดตามความคืบหน้าของโครงการผ่านข้อมูลที่พิสูจน์และเชื่อถือได้ อีกทั้งยังผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น การใช้โดรน เพื่อวัดผลสำเร็จเคร่งครัด สู่การต่อยอดและขยายผลสู่ต้นแบบโครงการอื่น ๆ ต่อไป โดยร่วมมือกับพันธมิตรวิชาการผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วน ได้แก่
- คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านการนำความเชี่ยวชาญด้านป่าไม้ และนิเวศวิทยา ประยุกต์ใช้ในการวางแผนดำเนินโครงการ รวมถึงประเมินพื้นที่ปลูกป่า เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและวัดผลได้จริง
- คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผสานความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอุทกวิทยา เพื่อศึกษาและวางแผนโครงการฯ เกี่ยวกับการทำทางน้ำเพื่อลดพื้นที่แห้งแล้ง และแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาวสำหรับพื้นที่ป่าในเมือง
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวัด การรายงาน และการทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลด และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำงานร่วมกับโครงการฯ ในกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวัดผล เพื่อพัฒนาโครงการฯ สู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตราวัดผลได้เชิงรูปธรรม
- ปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอาสาเพื่อส่งต่อจิตสำนึกด้านการตอบแทนสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่ผู้คนรอบข้าง
จากเป้าหมายดังกล่าว ทางโครงการฯ ได้มุ่งทำงานและสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์หลายภาคส่วน อาทิ ชุมชนในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครระยอง เทศบาลตำบลเนินพระ กรมเจ้าท่า กรมประมง ชุมชนเนินพระ กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำระยองและป่าชายเลนจังหวัดระยอง วิสาหกิจชุมชนประมงเรือเล็กเก้ายอด วิสาหกิจท่องเที่ยวตำบลปากน้ำ เยาวชนในพื้นที่ ตลอดจนนักท่องเที่ยว
สำหรับการดำเนินโครงการในระยะแรก มุ่งเน้นการศึกษาพื้นที่ในโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานวิชาการอย่าง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อวางแผนฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรมและเน้นความยั่งยืน เช่น ศึกษาการนำเอาพืชพื้นถิ่นเข้ามาปลูก ศึกษาพื้นที่ทางน้ำและกระแสน้ำ รวมถึงวิเคราะห์คุณภาพดิน เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์และฟื้นฟูตามความเหมาะสมที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ศึกษาตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงประเมินความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ จากแผนงานที่วางไว้
สำหรับการวางแผนในระยะถัดมา ทางโครงการฯ วางแผนยกระดับสร้างการรับรู้ในวงกว้างขึ้น พร้อมร่วมมือกับสถานศึกษาในระดับต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าชายเลนเข้าไปในหลักสูตร อีกทั้งวางแผนจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนเพื่อให้ผู้ที่สนใจ คนในชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยว ได้ร่วมทำกิจกรรม และร่วมเสวนาในประเด็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่าในเมือง ตลอดจนจัดทำสื่อการศึกษาเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลนและการอนุรักษ์ระบบนิเวศจากสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในด้านการศึกษาติดตามความคืบหน้า เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทางโครงการฯ ได้มุ่งวัดผลเชิงลึกเพื่อประเมินเป้าหมายของปริมาณการดูดซับคาร์บอนสำหรับป่าชายเลนในพื้นที่ และประเมินการเปลี่ยนแปลงในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการผสานเทคโนโลยีมาช่วยวัดผลอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้โดรนเพื่อวัดความสูงของต้นไม้และวัดอัตราการเติบโตในแต่ละปี ไปจนถึงการเปรียบเทียบจำนวนพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นมาคำนวณปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อชดเชย โดยข้อมูลดังกล่าวถือเป็นองค์ความรู้สำคัญเพื่อการต่อยอดขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมด้านการจัดการคาร์บอนเครดิต ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนในอนาคต
พร้อมกันนี้ โครงการฯ ยังมีแผนสำหรับการนำข้อมูลที่ได้ศึกษามาพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้ภาครัฐ ชุมชน โรงเรียน พนักงานเชฟรอน และพนักงานบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมปลูกป่า ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การสร้างทางน้ำ ทำคอนโดปู ไปจนถึงจัดทำบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน และยกระดับการรับรู้เกี่ยวกับโครงการในวงกว้างผ่านการจัดเสวนาวิชาการ หรือสื่อสารผ่านสื่อหลากหลายช่องทาง เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับโครงการฯ และความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาผลกระทบสู่สิ่งแวดล้อมต่อไป