เมื่อ “ความยั่งยืน” คือเป้าหมายของทุกองค์กรและทุกชุมชนในสังคมโลก ความยั่งยืน ขององค์กรจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความยั่งยืนของโลก เพราะถ้าองค์กรต่างๆ ไม่ยั่งยืนแล้ว การพัฒนาที่ยั่งยืนก็คงเป็นไปได้ยาก
“การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) จึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้นำ และผู้บริหารทุกระดับในปัจจุบัน
ในความเป็นจริงแล้ว ความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ “กำไร-ขาดทุน” และ “ความต่อเนื่องของกิจการ” เป็นหลัก ส่วนความยั่งยืนของชุมชนและสังคมโลกจะอยู่ที่ “สิ่งแวดล้อม” และ “คุณภาพชีวิต” ของชุมชนและชาวโลกเป็นสำคัญ คือ สิ่งแวดล้อมที่อยู่ ทั้งในและรอบชุมชน (กากขยะ น้ำเสีย และอากาศ) ต้องมีคุณภาพดีตามมาตรฐาน รวมถึง “สิ่งแวดล้อมของโลก” ที่มีปัจจัยในเรื่องของ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) เกี่ยวข้องด้วย
การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ชาวโลกทุกคนจะต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้เป็นสีเขียว เพื่อให้ชีวิตของมนุษย์และสัตว์โลกอยู่ด้วยกันได้ภายใต้ “สิ่งแวดล้อมที่ดี” อันทำให้ “คุณภาพ ชีวิต” ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ดีขึ้นด้วย
ทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่องค์การสหประชาชาติและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น และต้องการเป็น ส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้ยั่งยืน ด้วยการกระตุ้นให้พวกเราตระหนักรู้ เรียนรู้ (ขวนขวายหาความรู้) และยอมรับที่จะปฏิบัติตาม “มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี” ด้วย ความเต็มใจ
ปัจจุบันแหล่งความรู้เกี่ยวกับ “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” และ “การลดโลกร้อน” มีมากมาย ไม่ว่าจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ (ทั้งภาครัฐและเอกชน) ตำราวิชาการ บทความงานวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และอื่นๆ อีกมากมายหลายช่องทาง รวมตลอดถึงยุทธศาสตร์ และนโยบายของภาครัฐที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้กระแสรักษ์ สิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นและกระจายกว้างขวางไปทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ด้วยการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญมากขึ้นทุกที
ศัพท์แสงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “การอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม” และ “การจัดการภาวะโลกร้อน” ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจจึงมีมากมาย อาทิ SDGs, BCG, ESG, CE, GI, GHG, Carbon Footprint, Carbon Credit, Net Zero, Climate Change, CBAM เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่มุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อคงไว้ซึ่ง “คุณภาพชีวิต ที่ดี” ของสิ่งมีชีวิตบนโลกสีเขียวใบนี้
“จิตสำนึกในการพัฒนาที่ยั่งยืน” จึงมี ความสำคัญต่อทุกผู้คนที่ประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งที่เป็นพนักงานลูกจ้าง หรือผู้บริหารแต่ละคน หรือเป็นองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรม (ค้าขาย บริการ หรือโรงงานอุตสาหกรรม) คือจิตสำนึก แห่งการรักและหวงแหนธรรมชาติ การรัก สิ่งแวดล้อม การไม่ทำลายหรือเบียดเบียน สิ่งแวดล้อม การไม่ฉกฉวยและใช้ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอย่าง สิ้นเปลือง จนรุ่นลูกหลานของเราไม่มีโอกาส ได้เห็น ไม่ได้ใช้สิ่งนั้นในวันหน้า เป็นต้น
สิ่งต่างๆ ที่เรามีใช้ในวันนี้ ลูกหลาน ของเราก็มีใช้ของเขาในวันหน้าเช่นเดียวกัน รุ่นเราได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติ (ผืนป่าและสัตว์ป่า) รุ่นลูกรุ่นหลานก็ได้เห็น ได้สัมผัสเหมือนเราในชั่วอายุของเขาด้วย ไม่ใช่คนยุคเราใช้จนหมด ลูกหลานไม่มีใช้ หรือรุ่นลูกหลานไม่ได้เห็นป่าไม้ที่เขียวขจี ลำธารที่ใสสะอาด และสัตว์ป่าอย่างที่รุ่นเราเห็น (เราเห็นแรดสีขาว ลูกหลานเราก็เห็นแรด สีขาว ไม่ใช่เห็นแต่รูปที่อยู่ในหนังสือเพราะ แรดสีขาวสูญพันธุ์แล้ว) ดังนี้จึงเรียกได้ว่าเป็น “การพัฒนาที่ยั่งยืน”
วันนี้ของเราทุกคนจึงต้องช่วยกันสร้าง องค์กรให้ยั่งยืนด้วยจิตสำนึกและการกระทำ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนโลก เพื่อให้ยั่งยืนพร้อมๆ กันไป ด้วยการยึดมั่นใน หลักการที่ว่า “คุณภาพคือความอยู่รอดและ ยั่งยืน” ครับผม!
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 119 กันยายน – ตุลาคม 2566 คอลัมน์ Productivity โดย ดร. วิฑูรย์ สิมะโชคดี