การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2566 ซึ่งมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 โดย ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และมอบหมายกระทรวงพลังงานใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อปรับราคาขายปลีกให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรัฐมนตรีในการลดราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ต่อไป
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในการลดค่าครองชีพประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศผ่านการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เช่น การลดอัตราค่าไฟ การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน ตั้งแต่ 20 กันยายน – 31 ธันวาคม พ.ศ.2566 อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการด้านภาษีสรรพสามิตที่ผ่านมามุ่งเน้นไปที่เชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคขนส่งสาธารณะและต้นทุนอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ (น้ำมันดีเซลและน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น)
ดังนั้น เพื่อให้นโยบายในการลดค่าครองชีพประชาชนส่งผลครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนจากปัจจัยการปรับราคาตามฤดูกาลและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวของทวีปยุโรปและอเมริกา และปัจจัยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รัฐบาลจึงเห็นควรให้ดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตในสินค้าน้ำมันเบนซินเป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีน้ำมันเบนซินจะเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อประเมินสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการปรับตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอย่างใกล้ชิด
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
ปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันเบนซินลง 1 บาทต่อลิตร โดยให้อนุพันธ์ของน้ำมันดังกล่าวมีการปรับลดอัตราภาษีตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันที่ผสมอยู่ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567 และหลังจากนั้นให้อัตราภาษีกลับสู่อัตราเดิมก่อนการปรับลด โดยมีรายละเอียดของอัตราภาษี ดังต่อไปนี้
(1) น้ำมันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่ว อัตราภาษีที่ใช้ในปัจจุบัน 6.50 บาทต่อลิตร อัตราภาษีที่เสนอใหม่ 5.50 บาทต่อลิตร
(2) น้ำมันเบนซินนอกจาก (1) อัตราภาษีที่ใช้ในปัจจุบัน 6.50 บาทต่อลิตร อัตราภาษีที่เสนอใหม่ 5.50 บาทต่อลิตร
(3) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 10 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด อัตราภาษีที่ใช้ในปัจจุบัน 5.850 บาทต่อลิตร อัตราภาษีที่เสนอใหม่ 4.950 บาทต่อลิตร
(4) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด อัตราภาษีที่ใช้ในปัจจุบัน 5.200 บาทต่อลิตร อัตราภาษีที่เสนอใหม่ 4.40 บาทต่อลิตร
(5) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 85 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด อัตราภาษีที่ใช้ในปัจจุบัน 0.975 บาทต่อลิตร อัตราภาษีที่เสนอใหม่ 0.825 บาทต่อลิตร
ประโยชน์และผลกระทบ
การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน จะช่วยลดค่าครองชีพด้านการเดินทางของประชาชน และเมื่อรวมกับมาตรการช่วยเหลือภาครัฐด้านอื่นก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงได้ รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ประมาณ 2,700 ล้านบาท (คาดการณ์จากสถิติปริมาณการเสียภาษีในปีงบประมาณ 2566 ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร จะสูญเสียรายได้ประมาณ 900 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น การลดอัตราภาษีลง 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน จะส่งผลให้สูญเสียรายได้ภาษี ประมาณ 2,700 ล้านบาท)