สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE ) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเวทีสัมมนา “PROVE: The Journey to EPR Thailand ” นำสมาชิกเครือข่ายภาครัฐ กรมควบคุมมลพิษ และภาคเอกชน กว่า100 องค์กร สร้างระบบนำบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ตามภาคสมัครใจ โดยเปิดทางผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ได้เตรียมพร้อมเข้าร่วมขยายเครือข่าย EPR (Extended Producer Responsibility) ก่อนที่พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน จะมีผลบังคับใช้ ในปี 2570
ธงชัย ศิริธร รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE ) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การเปิดเวทีร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายในครั้งนี้ เพื่อสื่อสารและสร้างโอกาสในการเข้าร่วมขับเคลื่อน EPR โดยมีช่องทางและวิธีการเข้าร่วมได้หลายรูปแบบตามสนใจ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมาย EPR จึงเป็นเวทีที่สำคัญที่เปิดให้สมาชิกและเครือข่าย ได้ทดลองดำเนินการตามหลัก EPR แบบภาคสมัครใจ ก่อนเข้าสู่ภาคบังคับ คาดว่าจะมีผลในปี 2570
การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา องค์กรหลายภาคส่วนได้ร่วมกันพัฒนาโมเดล โดย TIPMSE ร่วมกับภาคเอกชนได้ทำโครงการนำร่องที่นำหลัก EPR ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในโครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืนขึ้นในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเริ่มจาก 3 เทศบาลและขยายผลอีก 11 เทศบาลในปี 2567 เพื่อพัฒนาโมเดลที่สอดรับกับบริบทและกิจกรรมของแต่ละพื้นที่ นับเป็นความก้าวหน้าการพัฒนารูปแบบจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้เกิดเป็นแนวทางและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ไปพัฒนารูปแบบของพื้นที่ตนเอง
ทวีชัย เจียรนัยขจร ผู้อำนวยการส่วนลดและใช้ประโยชน์ของเสีย กองจัดกการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สำหรับแผนการขับเคลื่อน EPR ด้านบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทย ภาครัฐโดยกรมควบคุมมลพิษ เล็งเห็นถึงความสำคัญ EPR มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมองว่ายังคงเป็นแรงกดดันจากประชาคมโลกในเรื่อง Plastic Pollution Treaty ที่มีกลไกล EPR ภาคบังคับ พร้อมทั้งการผลิตบรรจุภัณฑ์จาก Primary Materials ยังส่งผลกระทบต่อการเกิด Carbon Footprint ได้สูงกว่า Secondary Materials ขณะที่ภาครัฐมีแผนการขับเคลื่อนระยะที่2 ในปี 2566-2570 ในด้านมาตรการการจัดการขยะพลาสติกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมร่วมกับเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้ Brand Owner ได้มีการใช้ PCR เป็นส่วนผสมของบรรจุภัณฑ์มากยิ่งขึ้น พร้อมกำหนดปรับปรุงและเสนอร่าง พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์ 6 หมวด (66 มาตรา) คือ 1) นโยบายด้านการส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ 2) การบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ 3) การจัดการบรรจุภัณฑ์ 4) แผนจัดการบรรจุภัณฑ์ 5) การตรวจสอบและควบคุม และ 6) บทกำหนดโทษ คาดว่าปี 2570 จะเป็นจุด Start ขับเคลื่อนแผนEPR ได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการนำหลัก EPR ไปพัฒนาธุรกิจ ได้เปิดให้ผู้ประกอบการมาร่วมเรียนรู้กระบวนการทำงานตามหลัก EPR เพื่อเตรียมความพร้อม ในการพัฒนาองค์กร เข้าสู่หลัก EPR ผ่านเวทีสัมมนากลุ่มย่อย 4 สถานีเรียนรู้เส้นทางการเข้าร่วม EPR จับมือรวมพลังผลักดัน EPR ภาคสมัครใจ โดยสาระสำคัญของห้องสัมมนาประกอบด้วย
สถานี Recap EPR Policy: จับประเด็นกฎหมาย EPR ผู้ร่วมสัมมนา จะได้รับทราบความก้าวหน้าร่างกฎหมาย ที่จะประกาศเป็น พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ที่กำหนดให้นำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต เข้ามาร่วมรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ ภายหลังจากการอุปโภคบริโภคของประชาชน
สถานี Reset Infrastructure: ปรับโครงสร้างขับเคลื่อน EPR อัปเดตการปรับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มจาก จุดรับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว(drop off point) , ระบบขนส่งและจัดเก็บ, ระบบคัดแยกปลายทาง (MRF : Material RecoveryFacility ที่อาจต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ดำเนินโครงการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น โครงการ Smart Recycling Hub, โครงการมือวิเศษคุณวน, โครงการ REBOX, โครงการ ข.ขวดหมุนเวียนเป็นขวดใหม่, โครงการ Becare เก็บกล่องสร้างบ้าน
สถานี Reinvent with Recycle: เปลี่ยนดีไซน์สู่ความยั่งยืน เน้นการนำเสนอการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการรีไซเคิลได้ง่าย D4R หรือ Design for Recycle เพื่อเปลี่ยนให้บรรจุภัณฑ์สามารถเก็บกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากที่สุด ซึ่งมีนักวิชาการ ภาครัฐ รวมถึงต่างประเทศได้จัดทำแนวทาง D4R ไว้หลากหลายรูปแบบ ทั้งคู่มือของ WPO (World Packaging Organization) หรือข้อตกลงร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ THAI RKSHOP AGREEMENTข้อตกลงร่วม 4004-2566 ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์เรื่อง EPR ยังส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทยอีกด้วย
สถานี Reignite EPR Voluntary Action : จับมือรวมพลังผลักดัน EPR ภาคสมัครใจ โดยสถานีนี้ จะมีโอกาสในการร่วมทดลองเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วตามแนวทาง EPR ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของ PROVE และเตรียมความพร้อมสู่ภาคบังคับ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ต้องเป็นความรับผิดชอบทุกภาคส่วนตามแนวทาง EPR ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งโรงงานรีไซเคิลเพื่อให้เกิดการเก็บกลับครบวงจร (Closed Loop Packaging) โดยจะดำเนินงานในช่วงเตรียมความพร้อมสู่ การดำเนินงานภาคบังคับต่อไป
ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวที่ร่วมกัน ในการขับเคลื่อน Voluntary EPR โดยมีองค์กรเข้าร่วมแสดงเจตจำนงเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 100 องค์กร และยังมีการประกาศความร่วมมือของ 4 องค์กรภาคีได้แก่ PPP Plastics, PRO Thailand Network ,Aluminium Closed Loop Packaging System (Al Loop) และ TIPMSE PackBack และรวมถึง Collector รายใหญ่ที่พร้อมสนับสนุนอย่าง TBR หรือ SCGP ซึ่งต่างมีโครงการที่จะช่วยผลักดันและสนับสนุนกลไก EPR ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม