การเจ็บป่วยถือเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนเกิดมาบนโลกต้องเผชิญ ถึงมีคำพูดคำพูดหนึ่งเกิดขึ้นมาว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” โดยในปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากทั้งการรักษาแบบปกติ และ การแพทย์แผนไทย แต่บทความนี้จะพาไปรู้จักกับศาสตร์การแพทย์แผนจีน (TRADITIONAL CHINESE MEDICINE) ที่มีมายาวนานกว่า 2,500 ตามที่หาบันทึกได้ ซึ่งมีนักประวัติศาสตร์บางท่านคาดว่าอาจเก่าแก่กว่า 5,000 ปี โดยผู้ที่ให้ความรู้ในที่นี้มีนามปากกาว่าคุณหมอโฆษิต
แพทย์แผนจีน เป็นศาสตร์การรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบองค์รวมที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน ปัจจุบันมีการศึกษาและแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ศาสตร์การแพทย์แผนจีนนี้มีพื้นฐานจากความเชื่อที่ว่าร่างกายมนุษย์มีการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ มีความสมดุลที่กลมกลืนของ หยินและหยาง รวมถึงการไหลเวียนของพลังงานชี่ (ลมปราณ) ที่เป็นหัวใจของการมีสุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตที่ดีด้วย มีศาสตร์องค์รวมดังต่อไปนี้
1.) การฝังเข็ม เป็นวิธีการรักษาโรคโดยใช้เข็มขนาดเล็กที่ใช้สำหรับการฝังเข็มโดยเฉพาะ ฝังลงไปตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ตามแนวเส้นลมปราณ ช่วยปรับความสมดุลให้ร่างกาย เส้นเลือดมีการไหลเวียนเลือดที่ดีขึ้น ช่วยลดอาการปวดในกลุ่มของกล้ามเนื้อ เช่น ออฟฟิศซินโดรม อาการปวดท้ายทอย บ่า หลัง หัวไหล่ ปวดไมเกรน ปวดเข่า การนอนไม่หลับ ประจำเดือนมาไม่ปกติ โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบของโพรงจมูก รวมถึงทางด้านความสวยความงามของผิวพรรณและการชะลอวัย เพื่อความกระจ่างใสของผิวหน้า
2.) การครอบแก้ว โดยนำเอาถ้วยแก้วสำหรับการครอบแก้วมาผ่านความร้อนจากเปลวไฟจนเกิดเป็นสุญญากาศภายในครอบแก้วนั้น แล้วนำมาวางติดบนผิวหนัง ถ้วยแก้วจะดูดผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณนั้นขึ้นมาจนนูน ช่วยส่งเสริมการไหลเวียนโลหิต เกิดผลกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดการปวดตึงกล้ามเนื้อ รอยช้ำจากแรงดูดของครอบแก้วจะลดลงและหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์
3.) การแปะเมล็ดผักกาดที่หู นิยมทำในกลุ่มที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัวหรือลดน้ำหนักตัว โดยใช้เมล็ดผักกาดไปฝังไว้บริเวณใบหู เพื่อลดความอยากอาหาร ลดการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลดการปวดประจำเดือนในสตรี อาการนอนไม่หลับ รวมถึงการส่งเสริมให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำงานสมดุลและมีประสิทธิภาพดีขึ้น เมล็ดผักกาดแปะไว้ที่ใบหูข้างละ 4-6 เม็ด โดยแปะทิ้งไว้ 5-7 วัน ใช้สติกเกอร์กันน้ำด้วย สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ
4.) การรมยาสมุนไพร ใช้สมุนไพรมาเผาไหม้หรืออบความร้อน และห่อเป็นลูกประคบ มีกลิ่นระเหยของสมุนไพร แล้วนำมาประคบตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อรักษาในกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากหยินและหยางไม่สมดุล แก้ปัญหาอาการปวดตามข้อต่างๆ ปวดหลัง ปวดท้ายทอย เป็นต้น และยังสามารถจุดไฟสมุนไพรที่อัดเป็นแท่งแล้วรมไปตามจุดของร่างกาย เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนโลหิตและปรับหยินหยางให้สมดุล แก้ปัญหาสุขภาพได้
5.) การประคบร้อน โดยนำสมุนไพรมาอุ่นให้ร้อน แล้วประคบตามส่วนของร่างกายที่มีปัญหาโรคภัย และตามมาด้วยการนวด เกิดภาวะการผ่อนคลายและลดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และข้อกระดูกต่างๆ เกิดการไหลเวียนโลหิตที่ดีขึ้น สามารถทำร่วมไปกับการนวดและการฝังเข็มด้วย เพื่อเพิ่มผลดีต่อการรักษา
6.) การรักษาด้วยการต้มและรับประทานยาจีนสมุนไพรต่างๆ ปัจจุบันยาสมุนไพรเหล่านี้มีการพัฒนาก้าวหน้า เป็นในรูปแบบอัดเป็นยาเม็ด แคปซูล ยาทาภายนอก โดยใช้สารสกัดสมุนไพร และกำหนดขนาดของยาและน้ำหนักที่ชัดเจน รวมถึงการสกัดเป็นสมุนไพรชนิดน้ำ เพื่อใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและชนิดของโรคภัยได้ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้การศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลองอย่างมีประสิทธิภาพ การแพทย์แผนจีนได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างมาก จึงใช้ร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน (แผนตะวันตก) ได้ผลดีต่อผู้ป่วยมากขึ้น เพิ่มการรักษาอย่างผสมผสานที่ลงตัวยิ่งขึ้น